โรคซึมเศร้ารักษาได้ รู้เท่าทันอาการพร้อมแนวทางในการรับมือ
โรคซึมเศร้า ภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกช่วงวัย และเกิดขึ้นได้จากสาเหตุมากมาย ทำความเข้าใจอาการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าพร้อมวิธีรับมือเมื่อเกิดภาวะซึมเศร้า
Depression disorder คือโรคซึมเศร้าที่ใครหลายคนเคยได้ยินหรือรู้จัก เป็นอาการที่มีจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ว่าในช่วงวัยไหน ซึ่งความน่ากลัวของโรคนั้นอยู่ที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมความรู้สึกรวมทั้งรับมือกับความคิดด้านลบของตนเองได้จนส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิต ภัยร้ายจากโรคซึมเศร้าเป็นเรื่องใกล้ตัวและใครหลายคนไม่เคยสังเกตจนกระทั่งสายเกินแก้ อาการโรคซึมเศร้า สาเหตุของโรคซึมเศร้ามีวิธีป้องกันอย่างไรบ้าง เรามาทำความเข้าใจกัน
อาการโรคซึมเศร้า สัญญาณเตือนทางพฤติกรรม
Depression หรือ โรคซึมเศร้า คืออาการผิดปกติของผู้ป่วยในด้านความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรม เป็นภาวะไม่มีความสุขโดยไม่ทราบสาเหตุที่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันรวมถึงความสามารถในการทำงาน ซึ่งภาวะซึมเศร้าไม่สามารถหายเองได้ ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา โดยอาการของโรคซึมเศร้าที่พบเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่
- มีปัญหาเรื่องความจำ สมาธิสั้น ไม่สามารถตัดสินใจได้
- ประหม่า วิตกกังวล หงุดหงิดรำคาญใจแม้เพียงเรื่องเล็กน้อย
- ปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกายโดยไม่มีสาเหตุ
- ทำอะไรช้าลง เหนื่อยล้า ไม่มีความกระตือรือร้น หมดความสนใจทำเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
- พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป
- นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป
- เศร้า ว่างเปล่าและสิ้นหวัง รู้สึกตัวเองไร้ค่า หมกมุ่นแต่ความผิดพลาดล้มเหลว
- คิดถึงการตาย ทำร้ายตัวเอง พยายามฆ่าตัวตาย
โรคซึมเศร้าในเด็ก
เด็กและวัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่ต้องพบเจอกับการเปลี่ยนแปลงมากมายแต่ยังไม่รู้วิธีจัดการหรือรับมือเมื่อเกิดความเครียด รวมไปถึงสถานการณ์ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันจนนำไปสู่การเกิดความเครียดสะสมจนอาจกระตุ้นให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งผู้ปกครองหรือญาติผู้ใหญ่ในครอบครัวควรหมั่นสังเกตอาการลูกหลานว่ามีพฤติกรรมเหล่านี้หรือไม่
- มีพฤติกรรมก้าวร้าวขึ้น ต่อต้านสังคม หงุดหงิดไม่พอใจง่าย
- เบื่อหน่าย ไม่มีความสุข เป็นซึมเศร้าเฉื่อยชาไม่อยากทำอะไรแม้กระทั่งกิจกรรมที่ชอบก่อนหน้านี้
- ความจำแย่ลง ขาดสมาธิจนเรียนไม่เข้าใจส่งผลให้การเรียนตก
- พูดน้อยลง เริ่มเก็บตัวติดบ้านไม่เข้าสังคม โดดเรียน ติดผู้ปกครองไม่อยากไปโรงเรียน
- น้ำหนักลดลงเพราะไม่อยากทานอาหาร หรือกินเยอะเกินไปในบางกรณี
- มีปัญหาด้านการนอน นอนไม่หลับหรือตื่นเร็วผิดปกติ นอนทั้งวันไม่ยอมลุกจากเตียง
- มองโลกในแง่ร้าย รู้สึกตัวเองไร้ค่า โทษตัวเอง แอบร้องไห้คนเดียว
- ดื่มแอลกอฮอล์ หันไปใช้สารเสพติด
- มีความคิดทำร้ายตัวเอง บ่นอยากฆ่าตัวตาย
โรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ
กลุ่มผู้สูงอายุถือเป็นช่วงวัยที่พบผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากที่สุดกว่าบุคคลในวัยอื่นและไม่นับว่าเป็นภาวะทางโรคปกติของผู้สูงวัย ซึ่งผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยในกลุ่มนี้ปฏิเสธการเข้ารับวินิจฉัยอาการเพื่อทำการรักษา โดยผู้ป่วยสูงอายุภาวะซึมเศร้ามักมีพฤติกรรม ดังนี้
- หงุดหงิดง่าย อารมณ์ฉุนเฉียว
- รู้สึกเบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไร
- พฤติกรรมเปลี่ยนไป พูดคุยกับผู้อื่นน้อยลง ปลีกตัว ไม่อยากออกไปไหนหรือพบใคร
- รับประทานอาหารในปริมานที่น้อยลง
- เหนื่อยล้า มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย และรู้สึกไม่สบายตัว
- ความจำถดถอย มีปัญหาด้านการนอนหลับ หลับ ๆ ตื่น ๆ นอนหลับไม่สนิท หรือหลับยาก
- มีความรู้สึกรวมถึงคิดฆ่าตัวตาย ไม่ต้องการมีชีวิตอยู่ต่อเพราะรู้สึกตัวเองไร้ค่า
สาเหตุของโรคซึมเศร้าเกิดจากปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง
โรคซึมเศร้าสาเหตุเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน ถึงแม้ว่าจะยังบ่งชี้ปัจจัยเสี่ยงซึ่งผลกระทบต่อความผิดปกติของอาการอย่างแน่ชัดไม่ได้ แต่ลักษณะปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะโรคซึมเศร้านั้นพบได้ ดังนี้
- ลักษณะนิสัย: นิสัยบางอย่างสามารถเป็นปัจจัยก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ เช่น เป็นคนชอบติเตียน มองโลกในแง่ร้าย ไม่นับถือตนเอง
- พันธุกรรม: หากมีสมาชิกในครอบครัวเคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือไบโพลาร์ จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคสูงขึ้น
- สารสื่อประสาทในสมอง: การเปลี่ยนแปลงทางระบบประสาทเกี่ยวกับสารเคมีในสมองอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าซึ่งเป็นผลบ่งชี้จากงานวิจัย
- เหตุการณ์บอบช้ำทางจิตใจ: ปัญหาด้านความสัมพันธ์ ความเครียดจากปัญหาด้านการเงิน อาการเสียใจจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักหรือคนในครอบครัว เคยถูกทารุณกรรมทางเพศหรือเคยโดนทำร้ายร่างกาย ตลอดจนมีพฤติกรรมการกินอาหารที่ผิดปกติซึ่งเป็นความป่วยทางจิตเวช สภาวะเหล่านี้ก่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าได้
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน: ผู้ป่วยที่มีอารมณ์แปรปวน ช่วงมีระดับฮอร์โมนไม่สมดุลอย่างก่อน-หลังหมดประจำเดือน ก่อนตั้งครรภ์และหลังคลอดบุตร การเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนเหล่านี้สามารถกระตุ้นภาวะโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน
- อาการเจ็บป่วยเรื้อรัง: ผู้ป่วยโรคไทรอยด์ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ตลอดจนโรคเจ็บป่วยเรื้อรังอื่น ๆ
- ความแตกต่างในด้านชีวภาพ: การเปลี่ยนแปลงด้านชีวภาพนี้ถึงจะยังบ่งชี้ได้ไม่แน่ชัดแต่พบได้ในการเปลี่ยนแปลงกายภาพทางจากสมองของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
- การใช้ยา: การเปลี่ยนยาหรือหยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ หรือการใช้ยาประเภทนอนหลับ ยาลดความดันโลหิต สามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคซึมเศร้าได้
หากมีคนใกล้ตัวเป็นโรคซึมเศร้า ควรทำอย่างไร
หากมีคนรู้จักหรือคนใกล้ตัวไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนรัก คนในครอบครัวเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า วิธีที่คนใกล้ชิดควรปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจโรคซึมเศร้าว่าเป็นอาการของโรคอย่างหนึ่งที่ต้องได้รับการดูแลรักษาเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้ป่วยในชีวิตประจำวันได้ ไม่กล่าวโทษหรือต่อว่าที่อาจกระตุ้นให้อาการรุนแรงขึ้นเพราะผู้ป่วยไม่ได้เลือกที่จะเป็นหรือสามารถหายเองได้ ควรชวนผู้ป่วยทำกิจกรรมใหม่ ๆ อย่างวาดรูปเพื่อผ่อนคลาย เดินเล่นออกกำลังกาย
บุคคลใกล้ชิดพูดคุยและรับฟังอย่างเข้าใจ ไม่บังคับหรือเร่งเร้าให้บอกเล่าในสิ่งที่ผู้ป่วยไม่เต็มใจ ญาติ ๆ พร้อมช่วยเหลือ สนับสนุนแม้ในเรื่องเล็กน้อยรวมทั้งให้กำลังใจผู้ป่วยในการรักษาโรคซึมเศร้า นอกจากนี้แล้วตัวญาติหรือบุคคลใกล้ชิดควรหมั่นสังเกตอาการของผู้ป่วยอยู่เสมอโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้ารุนแรงและมีความเสี่ยงคิดฆ่าตัวตายสูง หากพบผู้ป่วยมีพฤติกรรมรุนแรงขึ้นหรือทำร้ายตัวเอง ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ก่อนสายเกินแก้
รักษาโรคซึมเศร้า ควรพบแพทย์ที่ไหนดี
โรคซึมเศร้ารักษาให้อาการดีขึ้นได้ หากผู้ป่วยมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาได้เร็วอาการจะหายไวกว่าทิ้งไว้นานแล้วค่อยมารักษา ผู้ป่วยสามารถขอพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาได้จากโรงพยาบาลรัฐที่สามารถใช้สิทธิ์สุขภาพได้ โรงพยาบาลเอกชนในราคาสูงขึ้นมาหน่อยแต่ปรึกษากับแพทย์ได้เร็วไม่ต้องรอคิว คลินิกจิตเวชหากไม่ต้องการไปโรงพยาบาล หรือเลือกคุยบำบัดโรคซึมเศร้ากับจิตแพทย์แบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันรวมถึงสายด่วนกรมสุขภาพจิต
โดยแนวทางในการรักษาโรคซึมเศร้าเบื้องต้นนั้นเริ่มจากการทำจิตบำบัด จิตแพทย์จะประเมินอาการซึมเศร้าผู้ป่วยว่าอยู่ในระดับใด ต้องใช้วิธีการรักษาด้วยยาซึ่งใช้เวลานานหรือไม่ เพราะตัวยารักษาโรคซึมเศร้าออกฤทธิ์ช้า ต้องทานต่อเนื่อง 2-6 สัปดาห์ และอย่างน้อยอีก 6 สัปดาห์เมื่อผู้ป่วยกลับสู่ภาวะปกติ
การป้องกันโรคซึมเศร้า วิธีการรับมือเมื่อเกิดภาวะ
- เมื่อเกิดภาวะโรคซึมเศร้าควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดรวมถึงสุรา เพราะจะส่งผลให้ภาวะอาการรุนแรงมากขึ้น เสี่ยงต่อการทำร้ายตัวเองจนถึงขั้นร้ายแรงได้
- หากิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชอบทำเพื่อผ่อนคลายและลดโอกาสเสี่ยงที่จะกระตุ้นให้อาการซึมเศร้ารุนแรงขึ้น
- ควรออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30-45 นาที
- พูดคุยและแสดงความรู้สึกเมื่อเกิดภาวะซึมเศร้าให้แก่คนสนิทหรือคนที่ไว้ใจรับรู้ เนื่องจากการเก็บกดความรู้สึกไว้อาจทำให้อาการของโรคซึมเศร้าแย่ลงได้
- หลีกเลี่ยงการตัดสินใจหรือใช้ความคิดกับเรื่องที่สำคัญในชีวิตเมื่ออยู่ในภาวะซึมเศร้า เพราะความผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจส่งผลให้การตัดสินใจดังกล่าวนั้นผิดพลาด
สรุปโรคซึมเศร้า สังเกตอาการ รักษาใจตัวเองและคนรอบข้าง
โรคซึมเศร้าแบบทดสอบออนไลน์มีอยู่มากมายด้วยกัน แต่เพื่อการรักษาที่ถูกวิธีหากสังเกตว่าตนเองมีอาการเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงควรนัดพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและปรับสภาวะจิตใจ เพราะโรคซึมเศร้าสามารถรักษาได้ นอกจากนี้แล้วความเข้าใจในภาวะซึมเศร้าจากคนใกล้ชิดรอบตัวโดยเฉพาะครอบครัวผู้ป่วย ถือเป็นอีกหนึ่งกำลังใจที่สำคัญช่วยให้ผู้ป่วยมีแรงใจใช้ชีวิตต่อไปได้ด้วยเช่นกัน