สภาพคล่องทางการเงินคืออะไร ทำไมถึงต้องศึกษาเรื่องนี้!
สภาพคล่องทางการเงิน คือ ความสามารถในการเข้าถึงเงินสดหรือสินทรัพย์ที่แปลงเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็ว เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือรับมือเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน
การวางแผนทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยไหนก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถึงวัยเกษียณ ดังนั้น การเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้เราสามารถมีชีวิตหลังเกษียณที่สุขสบายและไร้กังวล ซึ่งสิ่งสำคัญของการบริหารการเงินคือ การคำนึงถึงสภาพคล่องทางการเงิน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่ากำลังประสบกับการขาดสภาพคล่องทางการเงิน แล้วข้อแนะนำเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง มีอะไรบ้าง? สามารถติดตามได้ในบทความนี้
สภาพคล่องทางการเงินคืออะไร ทำไมถึงสำคัญ?
สภาพคล่องทางการเงิน คือ ความสามารถในการเปลี่ยนสินทรัพย์ให้เป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่สูญเสียมูลค่ามากเกินไป สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง เช่น เงินสด หรือเงินฝากออมทรัพย์ สามารถนำมาใช้จ่ายได้ทันที ขณะที่สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำ เช่น อสังหาริมทรัพย์ หรือหุ้นบางประเภท อาจต้องใช้เวลาขายก่อนจะเปลี่ยนเป็นเงินสด
เมื่อเรามีสภาพคล่องที่ดี จะช่วยลดความจำเป็นในการกู้ยืม ซึ่งหากขาดสภาพคล่อง อาจจะต้องพึ่งพาการกู้ยืมจนทำให้เกิดหนี้สินตามมา และต้องคอยแบกรับภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ การบริหารสภาพคล่องทางการเงินที่เหมาะสมยังช่วยให้สามารถควบคุมกระแสเงินสดได้ดีขึ้น ทำให้มีการจัดการรายรับและรายจ่ายได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น อีกทั้งยังเปิดโอกาสการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดีได้ในเวลาที่เหมาะสม โดยไม่ต้องขายทรัพย์สินอื่นในช่วงที่อาจไม่เป็นประโยชน์ทางการเงิน เพื่อให้เรามีความพร้อมสำหรับการรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันในอนาคตได้ด้วย
จะรู้ได้ยังไง ว่าเรากำลังขาดสภาพคล่องทางการเงิน
การมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดี ช่วยให้เราสามารถใช้จ่ายได้อย่างมั่นใจ ไร้ความกังวล และมีเงินสำรองสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน แต่หากเริ่มขาดสภาพคล่องทางการเงิน นั่นอาจเป็นสัญญาณของปัญหาทางการเงินที่ต้องได้รับการแก้ไขก่อนจะส่งผลกระทบต่อการเงินในระยะยาว โดยสังเกตได้จาก
- รายจ่ายมากกว่ารายรับเป็นประจำ หากพบว่าทุกเดือนต้องดึงเงินออมมาใช้ หรือมีเงินไม่พอจนต้องรอเงินเดือนเข้า อาจเป็นสัญญาณว่าสภาพคล่องทางการเงินเริ่มตึงตัว
- ต้องกู้ยืมเงินบ่อย ๆ หากต้องพึ่งพาบัตรเครดิต หรือกู้เงินเพื่อจ่ายค่าใช้จ่ายประจำวัน เช่น ค่าเช่าบ้านหรือค่าน้ำค่าไฟ อาจหมายความได้ว่าเราไม่มีเงินสดสำรองที่เพียงพอเลย
- ไม่มีเงินฉุกเฉินเพียงพอ โดยปกติแล้วควรมีเงินสำรองอย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน ไม่อย่างนั้น อาจเสี่ยงต่อการขาดสภาพคล่องเมื่อต้องเจอกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
- ผิดนัดชำระหนี้บ่อยครั้ง หากมีการจ่ายค่าผ่อนบ้าน ค่ารถ หรือหนี้สินอื่น ๆ ไม่ตรงเวลาอยู่เป็นประจำ บ่งบอกได้ว่าเรามีปัญหากับกระแสเงินสดของตัวเอง
- ใช้จ่ายเกินตัวหรือไม่มีแผนการเงินที่แน่นอน การใช้เงินโดยไม่วางแผน อาจทำให้เราต้องเผชิญปัญหาทางการเงินในอนาคตโดยไม่รู้ตัว
ความเสี่ยงจากการเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน
การขาดสภาพคล่องทางการเงิน คือ การที่บุคคลหรือธุรกิจไม่มีเงินสด หรือสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็วเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ส่งผลให้ต้องเผชิญกับปัญหาทางการเงินที่อาจรุนแรงขึ้นหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที ซึ่งปัญหาที่จะตามเมื่อขาดสภาพคล่องทางการเงิน มีดังนี้
- ไม่มีเงินใช้หนี้ตรงเวลา หากขาดเงินสดหมุนเวียน อาจทำให้เราผิดนัดชำระหนี้ต่าง ๆ อย่างเช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่ารถ หรือบัตรเครดิต ซึ่งจะส่งผลต่อเครดิตทางการเงินในระยะยาวได้
- ต้องกู้ยืมหนี้นอกระบบ เมื่อไม่สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ ทำให้หลายคนหันไปพึ่งพาการกู้ยืมหนี้นอกระบบ ซึ่งมักมาพร้อมกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก และอาจทำให้ปัญหาทางการเงินยิ่งแย่ลง
- เกิดความเครียดและความกดดันทางการเงิน การไม่มีเงินเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็น อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจ ทำให้เกิดความเครียดและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
- ไม่มีเงินสำรองสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน ในกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น เจ็บป่วยกะทันหัน หรือถูกเลิกจ้าง อาจทำให้ไม่มีเงินเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตและต้องหาแหล่งกู้เงินเพิ่ม
- อาจต้องขายทรัพย์สินในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าจริง เมื่อต้องการเงินสด อาจจำเป็นต้องขายทรัพย์สิน เช่น รถยนต์หรืออสังหาริมทรัพย์ ในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง เพื่อให้ได้เงินมาใช้จ่ายทันที
ข้อแนะนำในการเสริมสภาพคล่องทางการเงิน
ใครที่รู้สึกว่าสภาพคล่องทางการเงินของตนเองยังไม่ดีพอ และอยากเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เรานี้มีแนวทางปรับปรุงและเสริมความมั่นคงทางการเงินให้กับคุณ ดังนี้
วางแผนการใช้เงินให้รอบคอบ
การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เป็นพื้นฐานสำคัญของการบริหารเงินที่ดี เพราะช่วยให้เห็นภาพรวมว่ารายจ่ายถูกใช้ไปกับอะไรบ้าง และมีค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่สามารถลดหรือปรับเปลี่ยนได้ นอกจากนี้ การตั้งงบประมาณในแต่ละเดือน รวมถึงการกำหนดเป้าหมายทางการเงินระยะสั้นและระยะยาว จะช่วยควบคุมการใช้จ่ายได้ในแต่ละเดือนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เคลียร์หนี้เสียให้ได้มากที่สุด
หนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง เช่น หนี้บัตรเครดิตหรือหนี้นอกระบบ เป็นปัจจัยที่ทำให้สภาพคล่องทางการเงินลดลง โดยเริ่มจากการจัดลำดับความสำคัญของหนี้ และพยายามชำระให้หมดโดยเร็วที่สุด อาจใช้วิธีการชำระหนี้แบบ Snowball (เริ่มจากหนี้ที่มียอดน้อยที่สุดก่อน) หรือ Avalanche (เริ่มจากหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงสุดก่อน) นอกจากนี้ การรีไฟแนนซ์หนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดภาระดอกเบี้ยและเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินได้
มีเงินสำรอง
การมีเงินสำรองฉุกเฉินเหมือนกับการมีเบาะคอยรองรับตัวเราเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เช่น ค่ารักษาพยาบาล หรือค่าใช้จ่ายที่เข้ามากะทันหัน โดยควรมีเงินออมอย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน เพื่อป้องกันปัญหาทางการเงินในกรณีฉุกเฉิน นอกจากนี้ หากมีความจำเป็นต้องใช้เงินสดในช่วงเวลาที่คับขัน การเลือกใช้สินเชื่อที่ถูกกฎหมาย ที่มีอัตราดอกเบี้ยเหมาะสมและมีเงื่อนไขที่ชัดเจน ก็เป็นทางเลือกในการเสริมสภาพคล่องทางการเงินได้
เริ่มวางแผนวันนี้ เพื่อสภาพคล่องทางการเงินที่มั่นคง!
สภาพคล่องทางการเงิน หมายถึง ความสามารถในการเปลี่ยนสินทรัพย์ให้เป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็วโดยไม่สูญเสียมูลค่ามากเกินไป ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้บุคคลหรือธุรกิจสามารถจัดการค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ การป้องกันปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน สามารถทำได้ผ่านการบริหารการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ หรือการออมเงินสำรองให้เพียงพอ และการหลีกเลี่ยงหนี้สินที่ไม่จำเป็น หากเราสามารถจัดการเงินได้ดี ก็จะช่วยลดความเสี่ยงทางการเงินและทำให้ชีวิตมีความมั่นคงมากขึ้น
















