ไทรอยด์เป็นพิษเกิดจากอะไร มีอาการและวิธีรักษาอย่างไร
ไทรอยด์ เป็นต่อมไร้ท่อขนาดเล็ก ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่ควบคุมระบบเผาผลาญ พลังงาน และสมดุลของร่างกาย เมื่อเกิดความผิดปกติก็อาจส่งผลต่อสุขภาพในหลาย ๆ ด้าน
เคยสงสัยไหมว่าทำไมบางคนถึงมีน้ำหนักขึ้นลงแบบพรวดพราด สาเหตุอาจมาจาก “ต่อมไทรอยด์” อวัยวะเล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่บริเวณลำคอ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการทำงานของร่างกายในหลาย ๆ ด้าน ตั้งแต่ระดับพลังงาน น้ำหนักตัว อารมณ์ ไปจนถึงการทำงานของหัวใจและระบบประสาท การทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคไทรอยด์ รวมถึงสาเหตุ อาการโรคไทรอยด์ และวิธีการรักษาให้หายขาด เพื่อสามารถรับมือกับโรคไทรอยด์ได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที
ไทรอยด์ คืออะไร?
ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) เป็นต่อมไร้ท่อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของลำคอ ใต้ลูกกระเดือก มีรูปร่างคล้ายปีกผีเสื้อ หน้าที่หลักของต่อมไทรอยด์คือการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ที่สำคัญ ได้แก่ ไทรอกซิน (Thyroxine หรือ T4) และไตรไอโอโดไทโรนีน (Triiodothyronine หรือ T3) ฮอร์โมนเหล่านี้ช่วยควบคุมอุณหภูมิร่างกาย การเต้นของหัวใจ การเผาผลาญสารอาหาร และส่งเสริมการเจริญเติบโต
นอกจากนี้ ต่อมไทรอยด์ยังมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการเผาผลาญพลังงาน การเจริญเติบโต และการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายหากต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ อาจส่งผลทำให้เกิดโรคไทรอยด์ หรือส่งผลต่ออารมณ์ น้ำหนัก พลังงาน และการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ ได้
ภาวะความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับไทรอยด์
ต่อมไทรอยด์มีบทบาทสำคัญในการควบคุมการเผาผลาญพลังงานและการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เมื่อการทำงานของต่อมไทรอยด์เกิดความผิดปกติ จะนำไปสู่ภาวะที่ส่งผลต่อสุขภาพ ดังนี้
- ต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism) เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานเร็วขึ้น ส่งผลให้น้ำหนักตัวลดอย่างรวดเร็ว มีอาการใจสั่น เหงื่อออกมาก ประสาทตื่นตัว หงุดหงิดง่าย และนอนไม่หลับ
- ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย (Hypothyroidism) เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์น้อยเกินไป ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานช้าลง ส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่ม มีอาการเหนื่อยง่าย ผิวแห้ง ท้องผูก และเป็นซึมเศร้าได้
- ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ (Thyroid Dysfunction) เป็นภาวะที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานมากหรือน้อยเกินไป สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคภูมิต้านตนเอง ต่อมไทรอยด์อักเสบ การขาดไอโอดีน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้
สาเหตุของโรคไทรอยด์เกิดจากอะไร?
โรคไทรอยด์เป็นพิษเกิดจากความผิดปกติในการทำงานของต่อมไทรอยด์ ซึ่งอาจทำให้การผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป (Hyperthyroidism) หรือน้อยเกินไป (Hypothyroidism) สาเหตุหลักของโรคไทรอยด์มีดังนี้
- โรคเกรฟส์ (Graves' disease) เป็นโรคที่ระบบภูมิคุ้มกันสร้างแอนติบอดีมากระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้ผลิตฮอร์โมนมากเกินไป ส่งผลให้เกิดโรคไทรอยด์เป็นพิษ
- โรคฮาชิโมโตะ (Hashimoto's disease) เป็นโรคที่ระบบภูมิคุ้มกันโจมตีต่อมไทรอยด์ ทำให้การผลิตฮอร์โมนลดลง นำไปสู่ภาวะไทรอยด์ทำงานน้อย
- ต่อมไทรอยด์อักเสบ (Thyroiditis) ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือสาเหตุอื่น ๆ ทำให้ฮอร์โมนไทรอยด์ถูกปล่อยเข้าสู่กระแสเลือดมากเกินไป
- ก้อนเนื้อหรือเนื้องอกในต่อมไทรอยด์ ทำให้การผลิตฮอร์โมนไทรอยด์เพิ่มขึ้นหรือลดลง
- การขาดหรือได้รับไอโอดีนมากเกินไป อาจทำให้การทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติเนื่องจากไอโอดีนเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์
- ปัจจัยทางพันธุกรรม ที่คนในครอบครัวเป็นโรคไทรอยด์หรือโรคภูมิต้านตนเองอื่น ๆ
เช็กอาการ ตัวเองเสี่ยงเป็นโรคไทรอยด์หรือไม่
เช็กอาการเสี่ยงที่น่าสงสัยว่าอาจเป็นโรคไทรอยด์ อาการมีอะไรบ้าง ไปดูกัน!
- น้ำหนักเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติ ในบางรายน้ำหนักลดหรือเพิ่มขึ้นโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน
- รู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนเพลียมากกว่าปกติ แม้จะพักผ่อนเพียงพอ
- หัวใจเต้นเร็วหรือรู้สึกใจสั่น
- รู้สึกร้อนเหงื่อออกมากผิดปกติ หรือหนาวมากผิดปกติ
- มีปัญหาในการนอนหลับหรือนอนไม่หลับ
- รู้สึกหิวบ่อยและรับประทานมากขึ้น แต่น้ำหนักกลับลดลง
- มีปัญหาสมาธิสั้น หรือรู้สึกเครียดและหงุดหงิดง่าย
- มีอาการขับถ่ายบ่อยกว่าปกติ
วิธีการรักษาเมื่อป่วยเป็นโรคไทรอยด์
การรักษาโรคไทรอยด์มีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับประเภทและความรุนแรงของโรค ดังนี้
- การกลืนแร่ไอโอดีน
ผู้ป่วยจะต้องรับประทานสารไอโอดีน-131 ที่เป็นสารกัมมันตรังสีในรูปแบบน้ำหรือแคปซูล โดยสารนี้จะถูกดูดซึมเข้าสู่ต่อมไทรอยด์และทำลายเซลล์ที่ทำงานมากเกินไปหรือเซลล์มะเร็ง มักใช้ในการรักษาภาวะไทรอยด์เป็นพิษและมะเร็งต่อมไทรอยด์
- การผ่าตัดไทรอยด์
เป็นการรักษาโดยการผ่าตัดเอาต่อมไทรอยด์ออกบางส่วนหรือทั้งหมด มักใช้ในการรักษาก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์ที่มีขนาดใหญ่หรือสงสัยว่าเป็นมะเร็ง และภาวะไทรอยด์เป็นพิษที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่น
- การรับประทานยาต้านไทรอยด์
เป็นวิธีการทานยาที่ช่วยลดการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ เช่น Methimazole หรือ Propylthiouracil มักใช้ในการรักษาภาวะไทรอยด์เป็นพิษ
- การรับประทานยาควบคุมการเต้นของหัวใจ
เป็นวิธีการทานยาที่ช่วยลดอาการใจสั่นและควบคุมการเต้นของหัวใจในผู้ป่วยโรคไทรอยด์ มักใช้ในการรักษาอาการที่เกิดจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษ เช่น ใจสั่น และความดันโลหิตสูง
- การรับประทานยาฮอร์โมนไทรอยด์
เป็นวิธีการทานยาที่เป็นฮอร์โมนไทรอยด์สังเคราะห์เพื่อทดแทนฮอร์โมนที่ขาดไป มักใช้ในการรักษาภาวะไทรอยด์ทำงานน้อย (Hypothyroidism) หรือหลังการผ่าตัดต่อมไทรอยด์
ไทรอยด์ดูแลให้ดี ๆ เพื่อเลี่ยงโอกาสเกิดโรคร้ายตามมา
ไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อขนาดเล็กแต่มีบทบาทสำคัญต่อร่างกาย โดยทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่ควบคุมระบบเผาผลาญ พลังงาน และสมดุลของร่างกาย แต่เมื่อเกิดความผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นไทรอยด์ทำงานมากเกินไป (Hyperthyroidism) หรือทำงานน้อยเกินไป (Hypothyroidism) อาจส่งผลต่อสุขภาพในหลายด้าน ทั้งน้ำหนักที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หัวใจเต้นผิดปกติ ไปจนถึงความเครียดและอารมณ์แปรปรวนได้ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์และสังเกตความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ สามารถป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้ อย่างเช่น โรคไทรอยด์ เป็นต้น














