Five Forces Model เครื่องมือช่วยวิเคราะห์การแข่งขันของธุรกิจ
Five Forces Model เป็นเครื่องมือช่วยวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง และข้อมูลการแข่งขันของคู่แข่งในตลาด ทำให้สามารถลดความเสี่ยงหรือวางกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับธุรกิจได้
ในปัจจุบันการทำธุรกิจมีความท้าทายเป็นอย่างมาก ส่งผลให้การเริ่มต้นทำธุรกิจมีความซับซ้อน หากอยากประสบความสำเร็จในการแข่งขันกับธุรกิจอื่นๆแล้ว เราควรมีทักษะในการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในการแข่งขันให้เป็น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งจะบอกได้ตั้งแต่แรกเลยว่าธุรกิจที่เราจะเข้าไปทำนั้น ควรแข่งขันด้วย หรือไม่ โดยเครื่องมือหลักที่นิยมใช้ในการวิเคราะห์คือ Five Forces Model เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์แรงกดดันทั้ง 5 ที่ผลต่อสภาวะแวดล้อมในการแข่งขัน ซึ่งเราจะมาวิเคราะห์ Five Force Model กันในบทความนี้
Five Forces Model คืออะไร
ปัจจัยแรงกดดัน 5 อย่าง หรือ Five Forces Model เป็นทฤษฎีที่ถูกคิดค้นโดยนักวิชาการด้านยุทธศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อว่า คุณ Michael E. Porter ศาสตราจารย์จาก มหาวิทยาลัย Harvard Business School โดยทฤษฎีเสนอว่า มีปัจจัย 5 อย่างที่มีผลกระทบต่อการแข่งขันภาคธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้สามารถวิเคราะห์ว่าธุรกิจนั้นๆมีจุดอ่อนอย่างไรบ้าง มีจุดแข็งตรงไหน การแข่งขันเป็นอย่างไร มีโอกาสในการทำกำไรได้แค่ไหน เราจึงควรมองปัจจัยเหล่านี้เพื่อให้สามารถวางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจได้อย่างเหมาะสม เรียกได้ว่า Five Forces Model คือเครื่องมือที่ใช้สำหรับการวิเคราะห์คู่แข่งนั่นเอง
Five Forces Model องค์ประกอบมีกี่อย่าง อะไรบ้าง
โดยทฤษฎี Five Forces Model จะมีองค์ประกอบอยู่ 5 อย่างที่มีความสำคัญในการดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเครื่องมือที่มีเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ และใช้ในการประเมินในการแข่งขันทางธุรกิจ ว่ามีความเป็นไปได้มากแค่ไหนหากจะเริ่มทำธุรกิจนั้นๆ โดย Five Force Model มีอะไรบ้าง
1. การแข่งขันในตลาดเดียวกัน
หากมีจำนวนคู่แข่งในอุตสาหกรรมและมีความสามารถที่พอๆกัน จะบอกได้ว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมนั้นมีการแข่งขันสูง แย่งชิงลูกค้ากัน ซึ่งเป็นตลาดที่เรียกว่า Red Ocean ส่งผลให้มีสงครามการตัดราคากัน เราจึงต้องวิเคราะห์ว่าธุรกิจของเราสามารเติบโตได้หรือไม่ ควรมีการเตรียมพร้อม วางแผนกลยุทธ์ให้รัดกุมหากต้องการเข้าสู่ตลาดนั้นๆ เพื่อลดความเสี่ยง
2. อำนาจต่อรองของลูกค้า
การทำธุรกิจเกิดจากการต่อรองระหว่างผู้ประกอบการและลูกค้า ซึ่งอำนาจต่อรองของลูกค้ามีผลทำให้กิจการอาจได้กำไรลดลง หากผู้ประกอบการไม่สามารถทำให้ลูกค้าพึงพอใจได้ ลูกค้าอาจไปหาผู้ประกอบการรายอื่นที่สามารถให้ความพึงพอใจกับลูกค้าได้ในราคาที่ต่ำกว่า ยิ่งธุรกิจที่มีกลุ่มลูกค้าน้อยยิ่งทำให้อำนาจในการต่อรองของลูกค้าเยอะขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องสร้างแบรนด์สินค้าที่มีความแข็งแกร่ง สร้างความแตกต่างของสินค้า
3. อำนาจต่อรองของซัพพลายเออร์
การซัพพลายเออร์จำเป็นอย่างมากทำให้ธุรกิจของเราสามารถเติบโตต่อไปได้ แต่มีซัพพลายเออร์ก็มีอำนาจในการต่อรองสูงมากทำให้ต่อรองราคาได้ยาก ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนในการผลิตสูงและราคากำไรที่ได้ก็น้อยลง เช่นกันกับอำนาจต่อรองของลูกค้าเพียงครั้งนี้เราอยู่ในฐานะลูกค้า หากต้องการเพิ่มอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์ต้องมีการซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ได้ราคาของวัตถุดิบที่น้อยลง
4. ภัยคุกคามจากสินค้าทดแทน
เนื่องจากสินค้ามีการทดแทนกันได้และมีความต่างของราคา หรือกระทั่งความสะดวกสบายกว่า ถึงแม้อาจจะไม่ใช่สินค้าประเภทเดียวกันแต่จุดประสงค์ของการใช้งานเหมือนกัน ก็อาจทำให้ลูกค้าเลือกสินค้าทดแทนที่ตรงต่อความต้องการของลูกค้าได้ ตัวอย่างเช่น นาฬิกาเป็นสมาร์ทโฟน หรือการเดินทางรถทัวร์เป็นขึ้นเครื่องบิน จึงทำให้ผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ สร้างความน่าจดจำของแบรนด์สินค้าทำให้เป็นเอกลักษณ์ให้น่าซื้อกว่าสินค้าทดแทน
5. ภัยคุกคามจากผู้แข่งขันรายใหม่
แน่นอนว่าการเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่ย่อมทำให้มีตัวหารแบ่งสัดส่วนตลาดเพิ่มมากขึ้น ทำให้บริษัทที่ทำตลาดมาก่อนมีกำไรลดน้อยลงไป สำหรับกิจการขนาดใหญ่อาจไม่กระทบเท่าไหร่เพราะมีกำลังเงินทุน การผลิต วัตถุดิบราคาถูก แต่สำหรับกิจการขนาดเล็กย่อมได้รับผลกระทบต้องมีการรับมือที่ดี สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ทำให้ลูกค้าพึงพอใจกับบริการของเราให้เป็นฐานลูกค้าที่จงรักภักดี ส่วนอีกวิธีที่จะป้องกันการเพิ่มขึ้นของคู่แข่ง สามารถทำได้จากการสร้างความแตกต่างของสินค้าให้มีความโดดเด่นมากขึ้น เลียนแบบได้ยาก
Five Forces Model มีข้อดีอย่างไร
จะสังเกตได้ว่าเมื่อนำทฤษฎี Five Forces Model มาวิเคราะห์แล้วจะสามารถเล็งเห็นได้ถึงโอกาส และความเสี่ยง ผู้ประกอบการจะต้องนำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ 5 Force Model ไปทำอย่างไรเพื่อให้ธุรกิจส่งผลให้มีการเติบโตได้ นำไปสร้างกลยุทธ์ทางธุรกิจทำให้เกิดกำไร
- ช่วยวัดระดับการแข่งขันในอุตสาหกรรม
เป็นเครื่องมือประเมินความสามารถในการแข่งขันที่มีของคู่แข่ง รวมถึงภัยคุกคามของสินค้าทดแทน หรืออำนาจในการต่อรองของลูกค้าและซัพพลายเออร์
- ช่วยให้ทราบจุดแข็งและจุดอ่อนขององค์กร
เป็นเครื่องช่วยให้เข้าใจบริษัทธุรกิจต่างๆ มีความสัมพันธ์อย่างไรกับลูกค้าและซัพพลายเออร์ ความโดดเด่นของสินค้าเป็นอย่างไร
- ช่วยให้เห็นโอกาสในการขยายธุรกิจ
เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถมองเล็งเห็นโอกาสในการเติบโต แนวทางในการดำเนินธุรกิจเพื่อดึงดูดลูกค้า หรือมีความสัมพันธ์ที่ดีกับซัพพลายเออร์
สรุป Five Forces Model เป็นอย่างไร
จะเห็นได้ว่าการเริ่มต้นธุรกิจในปัจจุบันนั้นมีการแข่งขันทางการตลาดสูงมาก มีการเปิดตัวสินค้า ธุรกิจอยู่เรื่อยๆ ทำให้ลูกค้าสามารถเลือกสินค้าได้หลากหลายมากขึ้น ดังนั้นการที่ผู้ประกอบการเลือกใช้ทฤษฎี Five Forces Model จะเป็นตัวช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถวิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาด มีการแข่งขันของตลาดมากน้อยเพียงใด และปัจจัยอื่นๆที่สามารถทำให้ธุรกิจเติบโตได้ ช่วยกำหนดแนวทางการเดินหน้าของธุรกิจ และวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างไรให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ทำให้มีการนำ 5 Forces Model มาใช้กันอย่างแพร่หลาย