Gaslighting คืออะไร มีวิธีรับมืออย่างไรเมื่อต้องตกอยู่ในสภาวะนี้
Gaslighting คือวิธีการบงการทางจิตใจที่แฝงมาในรูปแบบของการบิดเบือนความจริง จนทำให้เหยื่อเกิดความไม่มั่นใจในความคิดและความรู้สึกของตัวเอง
ความสัมพันธ์นั้นมีหลากหลายรูปแบบ และแฝงไปด้วยความซับซ้อน ในบางครั้งคำพูดใครบางคนก็สามารถสร้างบาดแผลลึกได้โดยไม่ทันตั้งตัว หรือที่หลายคนเรียกพฤติกรรมเหล่านี้ว่า Gaslighting ซึ่งกลายมาเป็นประเด็นที่คนพูดถึงมากขึ้นในชีวิตประจำวัน แล้ว Gaslighting คืออะไร? ทำไมถึงส่งผลกระทบต่อจิตใจกับเหยื่ออย่างรุนแรง? ติดตามได้ในบทความนี้ เพื่อป้องกันตัวเองและคนที่เรารักจากการตกเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว
ภาวะ Gaslighting คืออะไร
Gaslighting คือรูปแบบหนึ่งของการบงการทางจิตใจ (psychological manipulation) โดยผู้กระทำจะพยายามบิดเบือนความจริงหรือทำให้เหยื่อรู้สึกสงสัยในความทรงจำ ความรู้สึก หรือการรับรู้ของตัวเอง จนเกิดความไม่มั่นใจและเริ่มเชื่อว่าตัวเองคิดผิดหรือจำเหตุการณ์ต่าง ๆ ผิดไป
ลักษณะสำคัญของ Gaslighting คือ การทำให้เหยื่อสับสนในความเป็นจริง เช่น ปฏิเสธสิ่งที่เคยเกิดขึ้น เปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริง หรือแม้กระทั่งกล่าวหาว่าเหยื่อคิดไปเองหรือคิดมากเกินไป ซึ่งพฤติกรรมนี้มักเกิดขึ้นในความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก เจ้านายกับลูกน้อง หรือแม้แต่ในครอบครัวด้วยกันเอง
Gaslighting แบ่งออกเป็นกี่ประเภท
พฤติกรรม Gaslighting สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบและสถานการณ์ โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลัก ที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน ซึ่งแต่ละประเภทมีวิธีการบงการที่แตกต่างกัน ดังนี้
1) ทำให้เป็นเรื่องไม่สำคัญ (Trivializing)
การ Gaslighting ในลักษณะนี้ ผู้กระทำจะลดทอนความสำคัญของความรู้สึกหรือประสบการณ์ของเหยื่อ โดยทำให้เรื่องที่เหยื่อรู้สึกจริงจังกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือไร้สาระ และเริ่มสงสัยในความรู้สึกของตัวเอง จนกลายเป็นคนที่ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกทางอารมณ์
2) ทำให้เป็นฝ่ายผิด (Blame-shifting)
การ Gaslighting โดยที่ผู้กระทำจะใช้วิธีโทษเหยื่อหรือโยนความผิดไปที่เหยื่อ แม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดจากตัวผู้กระทำเอง วิธีนี้ทำให้เหยื่อรู้สึกผิด พร้อมแบกรับความรับผิดชอบที่ไม่ใช่ของตัวเอง และทำให้เหยื่อจะเริ่มโทษตัวเองในทุกสถานการณ์ และพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตำหนิ แต่กลับยิ่งถูกบงการมากขึ้นเรื่อย ๆ
3) ไม่ยอมรับความจริง (Denying)
การ Gaslighting โดยที่ผู้กระทำจะปฏิเสธเหตุการณ์หรือคำพูดที่เคยเกิดขึ้น แม้ว่าจะมีหลักฐานชัดเจนก็ตาม เพื่อทำให้เหยื่อรู้สึกสับสนในความทรงจำและความจริงที่เกิดขึ้น จนขาดความมั่นใจ และต้องพึ่งพาผู้กระทำในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ
4) บิดเบือนความจริง (Twisting)
การ Gaslighting ในกรณีนี้ ผู้กระทำจะบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือเปลี่ยนแปลงเรื่องราวให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง โดยพยายามทำให้เหยื่อเชื่อว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นแตกต่างจากความเป็นจริง โดยที่เหยื่อจะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองตีความเรื่องราวผิดไป และเชื่อในคำพูดของผู้กระทำมากขึ้นเรื่อย ๆ จนไม่สามารถแยกแยะความจริงกับเรื่องที่ถูกบิดเบือนได้
ผลกระทบจากการถูก Gaslighting
การตกเป็นเหยื่อของ Gaslighting อาจไม่ใช่เรื่องที่เห็นได้ชัดเจนในทันที แต่พฤติกรรมนี้สามารถส่งผลกระทบทางจิตใจในระยะยาว รวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวันได้เลยทีเดียว โดยอาจส่งผลกระทบทางจิตใจตั้งแต่เล็กน้อยไปจนขั้นรุนแรง เช่น
- สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง โดยเหยื่อจะเริ่ม สงสัยในความคิด ความรู้สึก และการตัดสินใจของตัวเอง เนื่องจากผู้กระทำมักบิดเบือนความจริงหรือปฏิเสธเหตุการณ์ต่าง ๆ จนเหยื่อไม่แน่ใจว่าอะไรคือเรื่องจริง
- เกิดความสับสนในความเป็นจริง การ Gaslighting ทำให้เหยื่อ ไม่สามารถแยกแยะความจริงกับเรื่องที่ถูกบิดเบือนได้ จนเกิดความสับสนในสิ่งที่เคยเชื่อมั่น เหยื่ออาจเริ่มเชื่อในสิ่งที่ผู้กระทำบอก แม้ว่าจะขัดแย้งกับความทรงจำของตัวเองก็ตาม
- เกิดความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า เหยื่อของ Gaslighting มักรู้สึกว่าตัวเอง ไร้ค่าและไม่มีใครเข้าใจ จนส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลในเรื่องต่าง ๆ หรือในบางกรณีอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้เลยทีเดียว
- รู้สึกโดดเดี่ยวและแยกตัวออกจากสังคม การ Gaslighting ทำให้เหยื่อ รู้สึกว่าไม่มีใครเข้าใจและไม่สามารถไว้ใจคนรอบข้างได้ เพราะมักถูกบอกว่าความคิดหรือความรู้สึกของตัวเองไม่ถูกต้อง เหยื่อจึงเลือกที่จะเก็บตัวและไม่ขอความช่วยเหลือจากใคร
- สูญเสียความเป็นตัวเอง เมื่อเหยื่อต้องเผชิญกับ Gaslighting เป็นเวลานาน จะเริ่มสูญเสียความมั่นใจในตัวตนของตัวเอง และเปลี่ยนแปลงตัวเองตามสิ่งที่ผู้กระทำต้องการ ซึ่งทำให้เหยื่อกลายเป็นคนที่ไม่สามารถตัดสินใจหรือใช้ชีวิตตามความต้องการของตัวเองได้
- ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระยะยาว การ Gaslighting ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อเหยื่อในความสัมพันธ์ที่เกิดพฤติกรรมนี้ แต่ยังส่งผลต่อความสัมพันธ์ในอนาคต เพราะเหยื่อจะรู้สึกไม่ไว้ใจคนรอบข้าง หรือกลัวว่าจะตกเป็นเหยื่ออีกครั้ง
วิธีการรับมือการโดน Gaslighting จากคนในครอบครัว
เมื่อพฤติกรรม Gaslighting เกิดจากคนในครอบครัว ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เราใกล้ชิดมากที่สุด การรับมือจึงต้องมีความละเอียดอ่อนกว่าวิธีทั่วไป เนื่องจากมีความผูกพันทางอารมณ์และความคาดหวังที่ยากจะตัดขาด โดย Gaslighting มีวิธีรับมือ ดังนี้
- ตระหนักรู้ว่ากำลังโดน Gaslighting ผ่านการสังเกตจากพฤติกรรมและคำพูดของคนที่ทำให้เราสงสัยในความคิดหรือความรู้สึกของตัวเอง จากนั้นให้เขียนบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อยืนยันกับตัวเองว่าความทรงจำและความรู้สึกของเรานั้นถูกต้อง และมีน้ำหนักมากกว่าคำพูดคนอื่น
- หลีกเลี่ยงการถกเถียงกับผู้กระทำ เมื่อรู้ว่าพวกเขาไม่เปิดใจรับฟัง และบอกให้ชัดเจนว่าอะไรคือสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ หากจำเป็น ให้ลดการติดต่อหรือจำกัดเวลาที่ใช้ร่วมกัน
- ทบทวนเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วยการจดบันทึก หรือพูดคุยกับคนที่ไว้ใจได้ เพื่อคอยย้ำเตือนตัวเองว่า ความรู้สึกของเรามีคุณค่า และเรามีสิทธิ์ที่จะรู้สึกในสิ่งที่รู้สึก
- ขอความช่วยเหลือจากคนที่ไว้ใจได้ โดยอาจเล่าเหตุการณ์ให้เพื่อนหรือคนที่เราไว้ใจฟัง เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากคนนอก หรือหากรู้สึกว่าไม่สามารถจัดการด้วยตัวเองได้ ให้ปรึกษานักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต
- ฝึกพูดในเชิงบวกกับตัวเอง เช่น การใช้คำยืนยัน (Affirmations) หรือทำกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกมั่นใจในความสามารถของตัวเอง เช่น การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ หรือการทำสิ่งที่ชื่นชอบ เพื่อสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง
- ยอมรับว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนอื่นได้ แต่สามารถเปลี่ยนแปลงวิธีรับมือได้ โดยอาจมุ่งเน้นการปกป้องสุขภาพจิตของตัวเอง แทนที่จะพยายามเปลี่ยนแปลงตัวผู้กระทำเสียเอง
สรุป Gaslighting พฤติกรรมแย่ ๆ ที่ไม่ควรกระทำ
Gaslight คือพฤติกรรมที่ทำลายความมั่นใจในตัวเองของเหยื่อ หรือกล่าวโทษเหยื่อว่าเป็นคนคิดมากหรือเข้าใจผิดไปเอง เช่น “เธอคิดไปเองทั้งหมด” หรือ “ฉันแค่ล้อเล่น ทำไมถึงจริงจังขนาดนี้” ส่งผลให้เหยื่อรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าและต้องพึ่งพาผู้กระทำมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว ทำให้การหลุดพ้นจากความสัมพันธ์เหล่านี้เป็นเรื่องยาก
ซึ่ง Gaslighting สามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภทที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นการลดทอนความสำคัญ การโยนความผิด การปฏิเสธความจริง หรือการบิดเบือนข้อเท็จจริง การตระหนักรู้ถึงพฤติกรรม Gaslighting พร้อมหาทางออกจากสถานการณ์เหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่้ต้องรีบทำ เพื่อปกป้องสุขภาพจิตและความสัมพันธ์ในชีวิตประจำวันของเราร่วมกับผู้อื่น