ไม่มีเงิน ขาดรายได้ ทำอย่างไรดีในยุคเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพง
ในยุคที่เศรษฐกิจโลกเผชิญความผันผวน และค่าครองชีพที่สูงขึ้น การไม่มีเงินกลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดการกับค่าใช้จ่ายพื้นฐานอย่างอาหาร ที่อยู่อาศัย หรือการดูแลสุขภาพ ความขัดสนทางการเงินไม่เพียงแต่สร้างความเครียดทางจิตใจ แต่ยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในหลายมิติ
การไม่มีเงินในปัจจุบันไม่ได้สะท้อนเพียงความยากจน แต่ยังสะท้อนถึงความท้าทายในการปรับตัวในสังคมที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่ไม่หยุดนิ่ง บทความนี้จะพาคุณไปหาสาเหตุและแนวทางการรับมือปัญหานี้ในยุคปัจจุบัน
สาเหตุที่ทำให้เราไม่มีเงิน หรือเก็บเงินไม่ได้สักที
ปัญหาการไม่มีเงินหรือเก็บเงินไม่อยู่เป็นปัญหาที่หลายคนเผชิญ และมักมีหลายปัจจัยที่ซับซ้อนเกี่ยวข้อง ทั้งปัจจัยภายนอกและพฤติกรรมส่วนตัวนั่นเอง
1. รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย
รายได้ที่ต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น อาจทำให้เงินหมดไปกับค่าใช้จ่ายจำเป็น เช่น ค่าอาหาร ค่าเช่าบ้าน และค่าสาธารณูปโภค รวมไปถึงการขาดแหล่งรายได้เสริมหรืออาชีพที่มีความมั่นคง ทำให้ไม่มีเงินเหลือสำหรับการออม หรือไม่มีแม้แต่เงินกินข้าว
2. ขาดการวางแผนการเงิน
ไม่มีการจัดทำงบประมาณรายรับรายจ่ายอย่างชัดเจน หรือไม่มีการกำหนดเป้าหมายการเงินที่ชัดเจน ทำให้ใช้เงินเกินความจำเป็น รวมไปถึงการไม่จัดลำดับความสำคัญของค่าใช้จ่าย อย่างเช่น ใช้เงินไปกับสิ่งฟุ่มเฟือยมากกว่าของจำเป็น ส่งผลให้ใช้เงินเกินตัวและเป็นการสร้างนิสัยเสียให้กับตนเอง
3. หนี้สินสะสม
การมีภาระหนี้สินต่างๆ เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อ หรือเงินกู้ ยิ่งแหล่งที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง ส่งผลให้หนี้ยิ่งเพิ่มขึ้นแทนที่จะลดลง และทำให้เงินที่หาได้ถูกนำไปใช้หนี้จนไม่เหลือเก็บ
4. พฤติกรรมการใช้เงินที่ไม่เหมาะสม
ใช้จ่ายตามอารมณ์ หรือช้อปปิ้งแบบไม่ยั้งคิด เช่น ซื้อของที่ไม่จำเป็นหรือใช้จ่ายเกินความจำเป็นบ่อยครั้ง ทำให้ไม่มีตังค์เก็บในบัญชีเลย รวมถึงการลงทุนในสิ่งที่ไม่ให้ผลตอบแทนหรือมีความเสี่ยงสูงจนเกินไป เช่น หุ้น กองทุนรวม หากไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างเพียงพอ อาจทำให้เราขาดทุนในส่วนนี้ได้
5. ขาดความรู้ทางการเงิน
ไม่เข้าใจวิธีบริหารเงิน เช่น การออม การลงทุน หรือการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน ในหลาย ๆ คนมักขาดความตระหนักถึงความสำคัญของการเก็บเงินเพื่ออนาคต และไม่รู้จักวิธีการใช้เครื่องมือทางการเงินไปต่อยอด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
6. เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
อาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ทำให้ต้องใช้เงินเกินงบที่เราตั้งไว้ตั้งแต่แรก เช่น การเจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุ มีค่าใช้จ่ายฉุกเฉินก้อนใหญ่เข้ามา ไม่มีเงินสำรองฉุกเฉินรองรับ ตกงานหรือรายได้ลดลงอย่างกะทันหัน เป็นต้น
7. สภาพเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
การเกิดปัญหาภาวะเงินเฟ้อ หรือเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการบริหารเงินและทำให้รายได้ลดลงในหลายครัวเรือน รวมไปถึงการออกนโยบายทางเศรษฐกิจบางอย่างที่ส่งผลกระทบต่อรายได้หรือการทำธุรกิจของเจ้าของ SME
8. ขาดวินัยในการออมเงิน
ขาดความอดทนในการเก็บออม ทำให้ไม่สามารถออมเงินได้อย่างเป็นประจำ หรือมักถอนเงินเก็บออกมาใช้ก่อนโดยไม่มีการสำรองเงินเอาไว้ ทำให้ไม่มีเงินเก็บในระยะยาว และเกิดภาวะเงินในกระเป๋าฝืดได้
วิธีแก้ปัญหาการไม่มีเงิน เพื่อก้าวสู่ความมั่นคงทางการเงิน
การแก้ปัญหาเรื่องไม่มีเงิน หรือการจัดการเงินที่ไม่พอใช้ต้องใช้วิธีที่ครอบคลุม ตั้งแต่การปรับพฤติกรรม การเพิ่มรายได้ ไปจนถึงการสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับตัวคุณเอง
1. วิเคราะห์สถานการณ์การเงินของตัวเอง
พยายามจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายของตัวเองในแต่ละเดือน เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนว่าใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง
โดยแยกค่าใช้จ่ายเป็นสองประเภท เพื่อหาสาเหตุว่าทำไมเงินไม่พอใช้ และตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป
- ค่าใช้จ่ายที่จำเป็น เช่น ค่าเช่าบ้าน, อาหาร, ค่าน้ำไฟ
- ไม่จำเป็น เช่น สิ่งของฟุ่มเฟือย, ค่าเดินทางที่ไม่จำเป็น
2. ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น
ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รวมไปถึงพยายามปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของตัวเอง เช่น ทำอาหารเองแทนการกินข้าวนอกบ้าน ใช้จ่ายเฉพาะสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น เลือกใช้บริการหรือสินค้าในราคาที่เหมาะสมกับรายได้ของเรา และหมั่นเปรียบเทียบราคาสินค้า หรือใช้คูปองส่วนลดจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก หากใครที่มีหนี้สิน ก็ควรหลีกเลี่ยงการสร้างหนี้เพิ่ม
3. เพิ่มรายได้
อาจมองหางานพิเศษหรืออาชีพเสริม เช่น ขายของออนไลน์ สอนพิเศษ หรือรับงานฟรีแลนซ์ โดยการใช้ทักษะที่มีให้เกิดรายได้ เช่น งานฝีมือ งานเขียน งานตัดต่อ หากทำงานประจำอยู่แล้ว อาจพิจารณาเรื่องการขอปรับเงินเดือนหรือย้ายงานไปในบริษัทที่รายได้สูงกว่า
4. วางแผนการออมเงิน
ตั้งเป้าหมายออมเงินที่ชัดเจน เช่น เก็บเงินเพื่อสำรองฉุกเฉิน 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน โดยเริ่มออมเล็กน้อยก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มจำนวนเงินขึ้นเรื่อยๆ หรือใช้หลัก “ออมก่อนใช้” เช่น เก็บ 10-20% ของรายได้ก่อนที่จะใช้จ่าย และควรแยกบัญชีสำหรับการเก็บออม เพื่อป้องกันการใช้จ่ายเกินตัว
5. จัดการหนี้สิน
รวบรวมหนี้สินทั้งหมดและเรียงลำดับตามดอกเบี้ยสูงไปต่ำ เพื่อกำหนดระยะเวลาในการชำระหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงก่อน เช่น บัตรเครดิต เป็นต้น พยายามชำระหนี้ให้ตรงเวลา เพื่อหลีกเลี่ยงดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น หรือใครที่มีหนี้สินหลายแหล่ง อาจจะขอเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อแบ่งงวดในการชำระเงิน หากไม่สามารถชำระได้เต็มจำนวนทีเดียว หรือเลือกรีไฟแนนซ์หนี้ที่ดอกเบี้ยถูกลงมา
6. สร้างกองทุนฉุกเฉิน
สร้างกองทุนฉุกเฉิน โดยอาจเริ่มจากการสะสมกองทุนเล็ก ๆ และค่อย ๆ เพิ่มขึ้น และแบ่งเงินส่วนหนึ่งไว้สำหรับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น การเจ็บป่วยหรือซ่อมแซมบ้าน
7. ศึกษาความรู้ทางการเงิน
หมั่นหาข้อมูลเกี่ยวกับการออม การลงทุน การจัดการหนี้สิน รวมไปถึงการอ่านหนังสือ ฟัง Podcast หรือลงคอร์สเรียนออนไลน์ที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินที่ได้คุณภาพ รวมไปถึงใช้แอปพลิเคชันจัดการเงินเข้ามาช่วย เช่น Make by KBank ที่มีฟีเจอร์ตั้งค่าให้เงินออมถูกโอนเข้าบัญชีออมทรัพย์โดยอัตโนมัติได้ด้วย
8. สร้างวินัยทางการเงิน
ติดตามการใช้จ่ายของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ และควรหลีกเลี่ยงสิ่งล่อตาล่อใจ เช่น โปรโมชันลดราคา หรือการซื้อของที่ไม่จำเป็น เพื่อสร้างนิสัยในการวางแผนก่อนซื้อทุกครั้ง
ไม่มีเงิน ไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า
การไม่มีเงินสักบาทในปัจจุบันเป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะในยุคที่ทุกอย่างล้วนต้องการเงินในการดำรงชีวิต เคล็ดลับการลดปัญหาเรื่อง ไม่มีเงินใช้ในอนาคตนอกเหนือจากที่กล่าวไปนั้น การมีทัศนคติที่ดีต่อการเงินก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เพราะจะช่วยให้คุณมีแรงบันดาลใจในการเก็บออมและลดความเครียดจากการไม่มีเงินลงได้
ใครที่อยากเริ่มต้นแต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไรดี การหาเพื่อนร่วมออม ก็จะยิ่งช่วยให้เรามีกำลังใจและสร้างวินัยในการออมมากขึ้น และในปัจจุบันการใช้แอปพลิเคชันเข้ามาช่วยในการจัดการเงินให้ง่ายขึ้นก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ สิ่งสำคัญที่สุดคือการเริ่มต้น แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจะเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าคุณเริ่มต้นทำวันนี้ สิ่งดีๆ จะตามมาในอนาคตอย่างแน่นอน