ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ คืออะไร ? อีกหนึ่งการตรวจสุขภาพที่สำคัญ
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นส่วนหนึ่งในการตรวจสุขภาพ เพื่อใช้ตรวจเช็คการทำงานของหัวใจ มีรายละเอียด และขั้นตอนการตรวจอย่างไรบ้าง ติดตามได้จากบทความนี้
การมีสุขภาพแข็งแรงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เพื่อตรวจสอบว่าสุขภาพเรายังดีอยู่หรือไม่ การตรวจสุขภาพประจำปีนับว่าสำคัญอย่างมาก ยิ่งอายุเพิ่มมากขึ้น ยิ่งต้องตรวจสุขภาพให้ละเอียดมากขึ้น และหนึ่งในการตรวจที่ไม่ควรพลาด คือ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แต่คลื่นไฟฟ้าหัวใจ บอกอะไรได้บ้าง ทำไมถึงมีความสำคัญ
ปกติแล้วคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะแสดงให้เห็นถึงการทำงานของหัวใจเพราะจังหวะการเต้นของหัวใจนั้นย่อมสัมพันธ์กันกับหัวใจทั้ง 4 ห้อง อาการผิดปกติสามารถแสดงให้เห็นถึงเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือ ห้องหัวใจที่โตผิดปกติ เป็นต้น
ดังนั้นแพทย์จึงใช้วิธีตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อคัดกรองความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับหัวใจว่าเกี่ยวกับระบบไหลเวียนของเลือด หรือ กล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อจะได้ทำการรักษาได้ทันท่วงที
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) คืออะไร?
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram - EKG) คือการใช้เครื่อง EKG ตรวจกล้ามเนื้อหัวใจโดยใช้วิธีตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจผ่านสื่อนำคลื่นไฟฟ้าขนาดเล็กที่วางไว้ตามจุดต่าง ๆ บนร่างกาย เช่น หน้าอก แขน ขา เพื่อตรวจอัตราและจังหวะการเต้นของหัวใจว่ามีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความผิดปกติหรือไม่ด้วยการบันทึกกราฟแสดงผลตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจบนกระดาษ
ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจนอกจากสามารถบอกเกี่ยวกับอัตราการเต้นและจังหวะการเต้นของหัวใจแล้ว ยังสามารถตรวจขนาดของหัวใจและห้องในหัวใจอีกด้วย
ปกติแล้วตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อคัดกรองสมรรถภาพของหัวใจเพียงปีละ 1 ครั้งก็นับว่าเพียงพอหากว่าไม่มีอาการบ่งชี้หรือสัญญาณของโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ
ผู้ใดบ้างที่ควรได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
บุคคลที่สมควรเข้ารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อจะได้มีรายละเอียดในการดูแลสุขภาพเพิ่มเติม คือ
- คนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปเนื่องจากเป็นวัยที่มีความเสี่ยงจะเกิดความผิดปกติของหัวใจ
- คนที่ประวัติเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจหรือโรคเกี่ยวกับระบบไหลเวียนเลือดมาก่อน
- คนที่เป็นโรคความดันเลือดสูงหรือไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน
- คนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขึ้น เช่น ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ประจำ มีภาวะอ้วน
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
- คนที่มีอาการน่าสงสัยว่าจะเป็นโรคหัวใจ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย เป็นต้น
- นักกีฬา เพื่อความปลอดภัยในการออกกำลังกาย
ขั้นตอนในการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
ขั้นตอนในการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นกระบวนการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ง่ายมาก ๆ ดังนี้
- ผู้เข้ารับบริการควรทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ไม่ตื่นเต้นระหว่างรอรับบริการตรวจ
- ผู้เข้ารับบริการนอนบนเตียงทำตัวสบาย ๆ ให้พยาบาลทำการติดอุปกรณ์สื่อรับกระแสไฟฟ้าภายในหัวใจบนตำแหน่งสำคัญบนร่างกายประมาณ 10 จุด
- หลังจากนั้นก็จะใช้เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจสแกนประมาณ 5-10 นาที
- หลังตรวจเสร็จผู้เข้ารับบริการสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ยกเว้นพบว่าผลตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติบางอย่าง ทำให้จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อบรรเทาความเสี่ยงให้ลดน้อยลง
การวินิจฉัยโรคจากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
การวินิจฉัยโรคด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นวิธีที่ใช้ตรวจกระแสไฟฟ้าที่กล้ามเนื้อหัวใจได้ผลิตออกมาในขณะที่หัวใจมีการบีบตัว เป็นวิธีที่ง่ายใช้เวลาสั้น ๆ เพียง 5-10 นาทีก็สามารถคัดกรองผู้ป่วยว่าอยู่ในกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจหรือไม่ มีผลตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจในลักษณะกราฟที่สามารถบ่งบอกได้ว่ามีโอกาสในการเกิดโรคดังต่อไปนี้
- โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
- โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- กล้ามเนื้อหัวใจหนา
- กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- ลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดปอด
- เกลือแร่ผิดปกติ
ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ ที่สามารถส่งผลต่อคนไข้ได้ไม่ว่าจะเป็นเพศใดวัยใดก็ตาม และยังสามารถช่วยในการวินิจฉัยโรคได้หลายอย่างดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจร่วมกับการตรวจด้วยวิธีอื่น
อย่างไรก็ดีหากผลตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจากเครื่อง EKG ค่าปกติอาจไม่สามารถยืนยันผลลัพธ์ได้ 100% เพราะแพทย์ยังมีข้อสงสัยว่าอาจมีปัญหาด้านโรคหัวใจอยู่ แพทย์อาจแนะนำให้ทำการตรวจเพิ่มเติมแล้วแต่อาการที่คนไข้ได้แจ้งไว้ก่อน เช่น
การตรวจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง (อัลตราซาวน์หัวใจ)
ในกรณีที่เกิดความสงสัยว่าคนไข้อาจมีโครงสร้างหัวใจที่ผิดปกติจากลักษณะกราฟที่อ่านได้แล้วพบว่าห้องหัวใจมีความผิดปกติ คนไข้จะถูกส่งไปตรวจเพิ่มเติมด้วยการตรวจคลื่นหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง Echocardiography ที่ส่งผ่านผนังทรวงอกไปถึงหัวใจด้วยหัวตรวจชนิดพิเศษ โดยที่สัญญาณสะท้อนกลับจะแตกต่างกันไประหว่างน้ำ เนื้อเยื่อ จากนั้นจะถูกนำมาสร้างภาพหัวใจผู้ป่วยโดยคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจหาความรุนแรง เช่น โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจพิการ โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ โรคเยื่อหุ้มหัวใจ ฯลฯ
การตรวจด้วยการวิ่งสายพาน
แต่หากว่าคนไข้มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกในขณะที่ออกแรง จึงเป็นไปได้ว่าการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจในขณะที่คนไข้นอนพักโดยไม่ได้ออกแรง ทำให้ตรวจไม่เจอความผิดปกติ จำเป็นต้องใช้การตรวจคลื่นหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน Exercise Stress Test (EST) โดยให้ผู้ป่วยออกกำลังกายเพื่อให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น วิธีตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบนี้จะบันทึกลักษณะของคลื่นนำไฟฟ้าภายในหัวใจพร้อมทั้งความดันเลือด
การตรวจด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง
โดยทั่วไปการตรวจ EKG ใช้เวลาสั้น ๆ แค่ 5-10 นาทีเท่านั้น แต่มีความเป็นไปได้ที่อาจจะไม่พบความผิดปกติ ดังนั้นแพทย์อาจแนะนำให้ตรวจเพิ่มเติมด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง ซึ่งนานพอที่จะเก็บข้อมูลทางกราฟไฟฟ้าหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่
วิธีตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบนี้คนไข้สามารถกลับบ้านได้ หรือทำงานได้ตามปกติ และเมื่อครบกำหนดก็กลับมาถอดเครื่อง รอฟังผลได้เลย วิธีนี้เหมาะกับคนที่มีปัญหาใจสั่นผิดปกติเป็นครั้งคราว หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ใจเต้นแรงผิดปกติประจำ และถ้าหากตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจตอนไม่มีอาการก็ไม่สามารถหาสาเหตุได้
สรุปการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อเช็กสมรรถภาพหัวใจ
การตรวจ EKG ช่วยให้รู้ว่าการทำงานของคลื่นไฟฟ้าหัวใจปกติอยู่หรือไม่ แพทย์ใช้วิธีนี้ในการคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงว่าจะเกิดปัญหาโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ นอกจากนี้แพทย์อาจจำเป็นต้องใช้ร่วมกับวิธีอื่น ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนั้นโปรแกรมตรวจสุขภาพประจำปีจึงได้รวมตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเข้าไปด้วย