HS Code คือ? สำคัญกับธุรกิจอย่างไร นักลงทุนมือใหม่ต้องรู้จัก
Harmonized System Code หรือ HS CODE คือ พิกัดศุลกากรที่ใช้จำแนกประเภทของสินค้าต่าง ๆ เพื่อเช็กและตรวจสอบการจัดเก็บภาษีนำเข้า ส่งออกระหว่างประเทศ
เคยสงสัยไหมว่าเวลาส่งของไปต่างประเทศ หรือสั่งของจากต่างประเทศ ทำไมต้องกรอกเลขอะไรแปลก ๆ ที่เรียกว่า HS Code เลขชุดนี้มีความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศยังไง HS Code คืออะไร? บทความนี้จะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับเลข HS Code ให้เข้าใจง่าย ๆ พร้อมตัวอย่างที่เห็นภาพชัดเจน ใครที่กำลังวางแผนทำธุรกิจนำเข้า ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ รับรองว่าอ่านบทความนี้จบ จะเข้าใจมากขึ้นแน่นอน!
Harmonized System Code หรือ HS Code คืออะไร
Harmonized System Code หรือ HS CODE คือ พิกัดศุลกากรที่ใช้เพื่อจำแนกประเภทของสินค้าแต่ละประเภท ซึ่งจะมีการใช้ HS Code ในการตรวจสอบเพื่อจัดเก็บภาษีนำเข้า ส่งออกระหว่างประเทศในพิธีศุลกากรของประเทศต่าง ๆ โดย HS Code ได้รับการยอมรับและใช้กันอย่างเป็นสากล ข้อดีของการตรวจสอบพิกัดศุลกากร หรือ HS Code ศุลกากร คือ ช่วยให้ทราบถึงค่าใช้จ่ายของภาษีอากรนำเข้าที่ต้องจ่าย ช่วยให้การคำนวณต้นทุน และค่าใช้จ่ายในการลงทุนทำได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ การเช็ก HS Code ยังทำให้ทราบด้วยว่าสินค้านำเข้าประเภทไหนบ้างที่ต้องมีการขอใบอนุญาตนำเข้า เพื่อป้องกันการตีกลับของสินค้าที่ทำให้อาจเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม รวมไปถึงยังช่วยให้ทราบว่ามีประเภทของสินค้าชนิดใดบ้างที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีนำเข้าได้อีกด้วย
เช็ก HS Code ของสินค้าได้จากที่ไหน
การเช็กพิกัดศุลกากร หรือ HS Code สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
- โทรสอบถามกับกรมศุลกากรโดยตรง ผ่านหมายเลข 02-667-7000 หรือ 1164 เพื่อแจ้งรายละเอียดของสินค้า ทั้งนี้ การแจ้งรายละเอียดของสินค้าต้องแจ้งโดยละเอียด เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด เช่น เป็นสินค้าอะไร ทำมาจากอะไร ผลิตจากที่ไหน เป็นต้น
- ตรวจสอบตัวเลข HS Code ได้จากเว็บไซต์ของศุลกากรโดยตรง ที่ http://itd.customs.go.th/igtf/th/main_frame.jsp?lang=th&top_menu=menu_homepage¤t_id=5028 โดยกรอกรายละเอียดสินค้าตามที่เว็บไซต์กำหนด จากนั้นกดค้นหา
- ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน HS Check Application
- สอบถามจากผู้ส่งออกโดยตรง ทั้งนี้ เพื่อความมั่นใจ สินค้าบางประเภทจำเป็นต้องตรวจสอบ HS Code อีกครั้ง
จากขั้นตอนทั้งหมด จะเห็นได้ว่าปัจจุบันการตรวจสอบ HS Code คือเรื่องง่าย ๆ ที่ทำได้ด้วยตัวเอง ผ่านช่องทาง หรือเครื่องมือจากกรมศุลกากรโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือโทรสอบถามโดยตรงก็ทำได้เช่นกัน
ดู HS Code ของสินค้า ต้องทำอย่างไร
ตัวเลขที่ใช้จำแนกหมวดหมู่สินค้าหรือ HS Code คือ ตัวเลข 11 หลักด้วยกัน ประกอบไปด้วยเลขที่ใช้ระบุหมวดหมู่ ประเภท ประเภทย่อย และรหัสสถิติ โดยมีความหมายของแต่ละตัวเลข ดังนี้
- เลข 6 หลักแรก : ถูกกำหนดโดยองค์การศุลกากรโลก โดย 2 หลักแรกจะใช้แบ่งหมวดหมู่ ส่วน 2 หลักถัดมาจะใช้แบ่งประเภท และ 2 หลักสุดท้ายจะใช้แบ่งประเภทย่อย
- เลข 2 หลักถัดมา : จะใช้แสดงพิกัด Harmonize ซึ่งประเทศไทยจะใช้เลขระบบพิกัดศุลกากรอาเซียน
- เลข 3 หลักสุดท้าย : เป็นรหัสสถิติที่กำหนดขึ้นของแต่ละประเทศ ซึ่งจะตามด้วยรหัสหน่วยสินค้า เช่น KGM (กิโลกรัม) LTR (ลิตร) MTR (เมตร)
ยกตัวอย่างเช่น รหัส HS Code 02013010101KGM สามารถอธิบายตัวเลข 11 หลักได้ดังนี้
- 0201: หมายถึง เนื้อสัตว์จำพวกโคกระบือ สดหรือแช่เย็น
- 30: หมายถึง เนื้อสันใน
- 10: หมายถึง เนื้อสันในที่แช่แข็ง
- 101: เป็นรหัสสถิติ อาจหมายถึง เนื้อสันในจากวัวพันธุ์บราห์มัน
- KGM: หมายถึง หน่วยเป็นกิโลกรัม
ดังนั้น เราจึงสามารถสรุปความหมายของรหัส HS Code นี้ได้ว่าเนื้อวัวสันในแช่แข็ง ขนาด 1 กิโลกรัม
การนำเข้า-ส่งออกสินค้ากับ HS Code ไม่ระบุ HS Code ได้ไหม
อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้นว่า HS Code ใช้สำหรับแจ้งประเภทสินค้า ระบุประเภทต้นทาง และใช้เพื่อการคำนวณภาษี เพราะฉะนั้น HS Code คือสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลยเมื่อจำเป็นต้องนำเข้าหรือส่งออกสินค้า
หากมีการนำเข้า หรือส่งออกสินค้าโดยไม่ได้ระบุ HS Code อาจทำให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรต้องใช้เวลานานในการตรวจสอบและจำแนกประเภทสินค้า ซึ่งอาจทำให้สินค้าล่าช้าในการส่งมอบ และหากเจ้าหน้าที่ศุลกากรไม่สามารถระบุประเภทของสินค้าได้ สินค้าดังกล่าวอาจถูกปฏิเสธไม่ให้นำเข้ามายังประเทศ รวมไปถึงการไม่ระบุเลข HS Code ยังถือเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายศุลกากร ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการถูกเรียกเก็บค่าปรับได้
สรุปเกี่ยวกับความสำคัญของ HS Code
สรุปแล้ว HS Code คือ รหัสสากลที่ใช้จำแนกประเภทสินค้าทั่วโลก เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนการผ่านพิธีการศุลกากร อีกทั้งยังเป็นกระบวนการสำคัญที่สัมพันธ์กับการจ่ายภาษี ใครที่อยากทำธุรกิจและไม่อยากมีปัญหาทางด้านการกฎหมาย อยากนำเข้า ส่งออกสินค้าให้ราบรื่นไม่มีโดนตีกลับ ต้องทำความรู้จัก HS Code ให้มากยิ่งขึ้น!
สำหรับใครที่กำลังจะเริ่มทำธุรกิจ และไม่มีความรู้เรื่อง HS Code หากไม่สะดวกตรวจสอบ หรือไม่มั่นใจในการตรวจสอบสินค้านำเข้าต่าง ๆ สามารถจ้างบริษัทนำเข้า ส่งออกสินค้า เพื่อเป็นตัวแทนในการตรวจสอบรายละเอียดดังกล่าวได้ ปัจจุบันมีธุรกิจนำเข้า ส่งออกสินค้าจากจีน-ไทย หรือไทย-จีน ที่ใช้บริษัทนำเข้าสินค้า ส่งออกสินค้าอยู่มากมาย เพราะนอกจากจะช่วยเรื่องการขนส่งแล้ว ยังช่วยงานเอกสาร และช่วยตรวจสอบเลข HS Code ให้อีกด้วย