สายตายาวคืออะไร อาการตามวัยเมื่ออายุมากขึ้น รักษาได้ไหม?
สายตายาว คือภาวะความบกพร่องทางการมองเห็นรูปแบบหนึ่ง ที่ทำให้มองใกล้ได้ไม่ชัด จนอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน รวมทุกข้อควรรู้ อาการ และวิธีการรักษา
สายตายาว คือความผิดปกติทางสายตาชนิดหนึ่ง ที่ผู้ป่วยจะมีความสามารถทางด้านการมองเห็นลดลง โดยมักจะมองเห็นในระยะไกลได้ชัดเจนเหมือนปกติ แต่เมื่อมองวัตถุที่อยู่ใกล้จะไม่สามารถมองเห็นได้ชัดนั่นเอง ซึ่งความบกพร่องทางการมองเห็นแบบสายตายาว เป็นความบกพร่องที่คุ้นหูสำหรับใครหลายคนอยู่แล้ว โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มักจะพบเจอกับอาการของสายตายาวตามอายุ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ บทความนี้จะพูดถึงอาการสายตายาว การรักษาสายตายาว สายตายาวเกิดจากอะไร รวมไปถึงการดูแลดวงตาให้ห่างไกลจากสายตายาว
สายตายาว (Hyperopia) คืออะไร? มีอาการอย่างไรบ้าง?
คนสายตายาว คือผู้ที่มีอาการบกพร่องด้านการมองเห็นรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการหักเหของแสงที่ผิดปกติจนทำให้คนสายตายาวมองเห็นภาพได้ไม่ชัดเจน คนสายตายาวเกิดจากรูปร่างของดวงตาที่ไม่ปกติจนการรวมจุดโฟกัสของแสงด้านหลังของจอประสาทตา (retina) แทนที่จะโฟกัสบนจอประสาทตาโดยตรง ซึ่งผู้ที่พบว่าตนเองเป็นสายตายาวส่วนมากมักจะแก้สายตายาวด้วยการใส่แว่นสายตายาว หรือคอนแทคเลนส์สายตายาว
โดยหากคุณสังเกตตัวเองแล้วพบว่ามีอาการต่าง ๆ เหล่านี้ อาจบ่งบอกถึงอาการสายตายาวที่เกิดขึ้นได้ เช่น มีปัญหาด้านการมองเห็น ไม่สามารถมองเห็นวัตถุหรือสิ่งของในระยะใกล้ได้ชัดเจน มีอาการอ่อนล้าดวงตา หรือบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย หลังจากการใช้สายตาหรืออ่านหนังสือเป็นเวลานาน ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการของภาวะสายตายาว หากไม่แน่ใจสามารถปรึกษาหรือไปวัดค่าสายตากับจักษุแพทย์ได้ที่โรงพยาบาล คลินิคจักษุแพทย์ หรือร้านจำหน่ายแว่นตาทั่วไป
สายตายาว สาเหตุเกิดจากอะไร?
สาเหตุหลักของสายตายาวเกิดจากการที่จุดรวมแสงไปตกกระทบอยู่ด้านหลังของจอประสาทตา แทนที่จะตกกระทบบนจอประสาทตาพอดี จึงทำให้ไม่สามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่ใกล้ได้ชัดเจน ซึ่งการรวมแสงในลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการที่ดวงตามีขนาดที่เล็กจนเกินไป หรือแม้กระทั่งการโค้งเว้าของกระจกตา (cornea) หรือ เลนส์ตา (lens) ที่ผิดปกติ จนส่งผลกระทบต่อการหักเหของแสงภายในดวงตานั่นเอง
ซึ่งภาวะความผิดปกติของโครงสร้างดวงตาที่ทำให้เกิดสายตายาวนั้น ไม่ได้มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่มักจะมีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม และพฤติกรรมการใช้สายตาของแต่ละคน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่คุณอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะสายตายาว หากคนนในครอบครัวของคุณมีอาการสายตายาว และโดยส่วนมากแล้วคนที่จะสายตายาว มักเป็นภาวะที่ติดตัวมาแต่กำเนิดแล้ว เพียงแต่จะเริ่มมีอาการเมื่ออายุมากขึ้น
การวินิจฉัยภาวะสายตายาว มีขั้นตอนอะไรบ้าง
การวินิจฉัยภาวะสายตายาว สามารถตรวจสอบได้โดยไม่ได้มีขั้นตอนที่ยุ่งยากมากนัก ซึ่งสำหรับใครที่มีอาการข้างต้นแต่ไม่แน่ใจว่าคุณมีภาวะสายตายาวหรือไม่ หรือเกิดคำถามว่ามองไกลไม่ชัด สายตาสั้นหรือยาว? หรือว่าสายตายาวเท่าไหร่ ควรใส่แว่น? ทางทีดีควรทำการตรวจวินิจฉัยภาวะสายตายาวและขอคำปรึกษาจากจักษุแพทย์ถึงการดูแลตนเองและวิธีการแก้ไขสายตายาว โดยการวินิจฉัยสายตายาวมีขั้นตอนที่สำคัญคร่าว ๆ ดังนี้
- การซักถามประวัติ - จักษุแพทย์จะทำการสอบถามถึงประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย โรคประจำตัว และอาการทางสายตาที่พบ รวมไปถึงประวัติการแพทย์ของคนในครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับโรคดวงตา
- การตรวจวัดการมองเห็น (visual acuity) - เป็นการตรวจสอบระดับการมองเห็นเบื้องต้น ว่าสามารถมองเห็นได้ชัดเจนมากน้อยเพียงใด โดยจักษุแพทย์จะให้คุณอ่านตัวอักษรบนแผนภูมิ (snellen chart) ในระยะห่างที่กำหนด โดยจะให้ปิดตาทีละข้าง และอ่านตัวอักษรภาษาอังกฤษ จากขนาดใหญ่ไปขนาดเล็กลงมาเรื่อย ๆ นอกจากนี้ จักษุแพทย์จะใช้เครื่องมือ Phoropter ในการตรวจสอบค่าสายตาของคุณ ในกรณีที่มีภาวะสายตายาว หรือสายตาสั้น
- การตรวจวัดค่าสายตา (refraction) - เป็นการวัดค่าสายตาด้วยเครื่อง autorefractor เพื่อวัดค่าสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง โดยการส่องแสงเข้าไปในดวงตาทีละข้าง เพื่อตรวจวัดการตอบสนองของดวงตาและค่าสายตาได้อย่างแม่นยำแบบอัตโนมัติ
วิธีการแก้ไขปัญหาสายตายาวแต่ละประเภท
ผู้ที่พบภาวะสายตายาว อาจประสบปัญหาขัดข้องในการใช้ชีวิตประจำวันอยู่ไม่น้อย ซึ่งหลายคนก็อาจสงสัยว่าสายตายาว หายได้ไหม ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่มีวิธีการรักษาสายตายาวได้โดยตรง แต่ไม่ต้องกังวลเพราะว่าในปัจจุบันการแก้ไขสายตายาวมีให้เลือกหลายวิธีตามความเหมาะสมและความสะดวกของแต่ละบุคคล โดยมีวิธีการแก้ไขปัญหาสายตายาวที่เป็นที่นิยมอยู่หลายวิธี ดังนี้
ใส่แว่นสายตา
การใส่แว่นสายตา เป็นหนึ่งในวิธีที่นิยมใช้มากที่สุดในการแก้ไขปัญหาสายตายาว แพทย์จะสั่งตัดแว่นสายตาให้เหมาะสมกับระดับสายตาของผู้ป่วย โดยเลนส์สายตายาวจะช่วยปรับโฟกัสแสงให้ตกกระทบบนจอประสาทตา ทำให้มองเห็นวัตถุที่อยู่ใกล้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ใส่คอนแทคเลนส์
การใส่คอนแทคเลนส์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสายตายาว สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการใส่แว่นตา ซึ่งคอนแทคเลนส์จะทำหน้าที่คล้ายกับเลนส์ของแว่นตา ช่วยปรับโฟกัสแสงให้ตกกระทบบนจอประสาทตา ทำให้มองเห็นวัตถุที่อยู่ใกล้ชัดเจนขึ้น
Monovision
Monovision เป็นเทคนิคการแก้ไขสายตายาวรูปแบบหนึ่ง ทำให้การมองเห็นของดวงตาข้างหนึ่งมองไกลชัดเจน แต่อีกข้างหนึ่งมองใกล้ชัดเจน เมื่อรวมกันแล้วจึงทำให้การมองเห็นชัดเจนนั่นเอง โดยอาจใช้วิธีการตัดแว่นสายตา การใส่คอนแทคเลนส์ หรือการทำเลสิกก็ได้
การทำเลสิกสายตา
การทำเลสิกสายตา เป็นอีกวิธีหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นวิธีที่จะช่วยให้คนสายตายาวสามารถกลับมามองเห็นได้อย่างชัดเจนโดยที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาแว่นสายตา หรือคอนแทคเลนส์อีกต่อไป โดยการทำเลสิกสายตายาว มีอยู่ด้วยกันสองวิธีหลัก ๆ ดังนี้
- Microkeratome LASIK - เป็นวิธีการทำเลสิคแบบดั้งเดิม โดยแพทย์จะนำใบมีดผ่าชิ้นส่วนของกระจกตาออก ก่อนที่จะใช้เลเซอร์ในการปรับความโค้งของกระจกตาตามที่กำหนดไว้
- Femto LASIK - เป็นเทคโนโลยีที่ใช้เครื่องเลเซอร์ femtosecond ในการยิงแสงเลเซอร์ไปปรับแต่งความโค้งของกระจกตาตามที่ต้องการ วิธีนี้จึงเป็นวิธีที่มีความแม่นยำสูง และสามารถฟื้นตัวได้ไว
การดูแลสุขภาพดวงตา ชะลอปัญหาสายตายาวตามวัย
ถึงแม้ว่าสายตายาว เป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้ตามช่วงอายุ และพันธุกรรมของแต่ละคน โดยไม่สามารถรักษาให้หายอย่างถาวรได้ แต่ก็ยังมีวิธีการถนอมดวงตาให้แข็งแรงสมวัย เพื่อให้ห่างไกลจากภาวะสายตายาว ที่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ ยกตัวอย่างเช่น
- พักสายตาเป็นประจำ - ชีวิตประจำวันในปัจจุบันมักต้องมีการใช้สายตาในการทำงาน หรือการติดต่อสื่อสารเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ แทบเล็ต และโทรศัพท์มือถือ ดังนั้น การพักสายตาจากเครื่องมือเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยสามารถยึดหลักการ 20-20-20 ได้ ด้วยการมองไปยังวัตถุหรือสิ่งที่อยู่ไกลออกไปจากตัวเราอย่างน้อย 20 ฟุต เป็นเวลา 20 วินาที ทุก ๆ 20 นาทีของการใช้สายตา
- ปรับแสงสว่างให้เหมาะสม - เปิดไฟหรือแสงสว่างให้เพียงพอในการอ่านหนังสือหรือทำงาน โดยเฉพาะในตอนกลางคืน ไม่ควรอ่านหนังสือในที่ที่มีแสงน้อยจนเกิดไป เพราะอาจเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดสายตายาวได้
- สวมแว่นกันแดด - ควรสวมแว่นกันแดดทุกครั้งที่ต้องเผชิญกับวันที่แดดจ้า เพื่อปกป้องดวงตาจากรังสี UV โดยควรเลือกแว่นกันแดดที่มีมาตรฐาน
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อดวงตา - รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ อุดมไปด้วยวิตามินเอ ลูทีน และ Zeaxanthin เช่น ผักใบเขียว, ผลไม้ที่มีสีเหลือง หรือสีส้ม เป็นต้น เพื่อเป็นการบำรุงสายตาให้สามารถใช้งานได้เป็นปกติ
- ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ - ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อทำการตรวจสุขภาพตาอย่างเป็นประจำ เพื่อตรวจสอบว่ามีภาวะสายตาผิดปกติหรือไม่ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น มีประวัติสมาชิกในครอบครัวที่มีโรคเกี่ยวกับดวงตา
สรุปข้อควรรู้เกี่ยวกับสายตายาว
สายตายาวเป็นภาวะทางการมองเห็นที่อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากขึ้น หากคุณกำลังสงสัยว่าตนเองมีอาการของสายตายาว ควรไปปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อตรวจวัดค่าสายตาอย่างถูกวิธี และเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาสายตายาวตามความเหมาะสม อย่างไรก็ดี ใครที่มีค่าสายตาปกติ ก็ควรดูแลรักษาดวงตาและหมั่นตรวจค่าสายตาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสายตายาวได้นั่นเอง