ผ่าต้อกระจก วิธีแก้ปัญหาแบบถาวร
ผ่าต้อกระจก เป็นการรักษาต้อกระจกที่ช่วยแก้ปัญหาได้ถาวร ทั้งวิธีการเตรียมตัวปฏิบัติอย่างไร หรือเลนส์แก้วตาเทียมมาประยุกต์อย่างไรกับผ่าต้อกระจก อ่านได้จากบทความนี้
โรคต้อกระจก สามารถเกิดได้กับทุกคน เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยชรา น้อยรายที่จะหนีพ้นจากการเป็นโรคต้อกระจกได้แต่เมื่อพบว่ามีอาการที่เข้าข่ายอาการต้อกระจกก็ไม่ต้องวิตกกังวลไป เพราะวิทยาการทางการแพทย์ได้ก้าวหน้าไปมาก สามารถช่วยชะลออาการของคนที่เริ่มเป็นต้อกระจก และยังช่วยรักษาคนเป็นในระยะรุนแรงให้หายได้ ด้วยวิธีผ่าต้อกระจก
สิ่งที่สำคัญและไม่ควรเพิกเฉยก็คือหากพบว่าเป็นต้อกระจก ควรรีบเข้าพบจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม เช่น การผ่าตัดสลายต้อกระจกอย่างเร็ว เพื่อจะได้กลับมาเห็นชัดอีก
รู้จักต้อกระจก …. รู้ทันโรค
เราควรที่จะมาทำความรู้จักเกี่ยวกับโรคต้อกระจก (Cataract) ที่เป็นโรคใกล้ตัวว่ามีอาการอย่างไรที่เรียกว่า “ต้อกระจก” โรคต้อกระจก คือโรคที่เกี่ยวกับแก้วตา/เลนส์ตาที่ขาดความใสทำให้การรวมแสงให้ตกที่จอประสาทตาได้ไม่เต็มที่ การมองเห็นจึงลดน้อยลง ปกติแล้วต้อกระจกจะเกิดกับผู้สูงอายุที่ร่างกายเริ่มเสื่อมสภาพลง
อาการของโรคต้อกระจก คือ ตามัวมองเห็นไม่ชัด โดยเฉพาะตอนกลางคืนจะยิ่งแย่ลง การทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับการใช้สายตาต้องใช้แสงสว่างมากขึ้น ไวต่อแสงจ้า มองเห็นภาพซ้อน แสงไฟกระจาย เห็นภาพสีซีดหรือสีออกเหลือง และมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยของค่าสายตา เช่น สั้นมากขึ้น เป็นต้น
ต้อกระจกรักษาได้ ไม่น่ากลัว
การรักษาต้อกระจกที่ให้ผลลัพธ์ดี และประสบความสำเร็จที่สุดนั้น คนไข้ต้องแจ้งโรคประจำตัว (ถ้ามี) และยาทั้งหมดที่กินอยู่ประจำ, แจ้งประวัติการรักษาทางตาทั้งหมด รวมทั้งทำความเข้าใจเกี่ยวกับเลนส์แก้วตาเทียมที่ส่งผลต่อการมองเห็นหลังผ่าต้อกระจกอีกด้วย
ก่อนที่แพทย์จะทำการรักษาต้อกระจก การตรวจวินิจฉัยดวงตาอย่างละเอียดเป็นสิ่งแรกที่พึงกระทำ เพื่อจะได้แยกชนิด ตำแหน่ง และความรุนแรงของต้อกระจก มีการวัดความดันลูกตา ตรวจน้ำวุ้นตา จอประสาทตาเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้สายตาขุ่นมัว
การรักษาต้อกระจกจะแยกตามระดับความรุนแรง
- สำหรับกรณีที่เริ่มเป็นต้อกระจก อยู่ในระยะแรก ๆ แพทย์จะรักษาด้วยการใช้ยาหยอดตา พร้อมแนะนำให้คนไข้ตัดแว่นวัดสายตาใหม่ ใส่แว่นตากันแดดกันแสงสะท้อน วิธีนี้ช่วยชะลออาการได้ชั่วคราว
- สำหรับระยะรุนแรงที่กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน แพทย์จะใช้วิธีการผ่าต้อกระจกตาในการรักษา ส่วนวิธีการผ่าตาต้อกระจกนี้เราจะกล่าวถึงในรายละเอียดหัวข้อถัดไป
ผ่าต้อกระจกในแบบต่าง ๆ ที่มีในปัจจุบัน
การรักษาด้วยวิธีผ่าต้อกระจก (Cataract Surgery) นั้นสามารถทำได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. ผ่าตัดด้วยการใช้คลื่นอัลตราซาวด์ หรือ เฟโคที่ใช้ในการผ่าตัดสลายต้อกระจก แพทย์จะสอดเครื่องมือสลายต้อผ่านแผลขนาด 3 มม.บริเวณขอบตาดำ เพื่อเข้าไปที่ต้อกระจกแล้วใช้คลื่นพลังงานความถี่สูงเพื่อสลายต้อกระจกจนหมด เสร็จแล้วจึงใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ วิธีนี้จะมีแผลขนาดเล็กไม่จำเป็นต้องเย็บแผล จึงค่อนข้างจะเป็นที่นิยมในปัจจุบัน
เวลาที่ใช้ในการสลายต้อกระจกประมาณ 15-30 นาที จะมีการใช้ยาชาเฉพาะตัวร่วมด้วย ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล แค่พักฟื้น 20-30 นาทีคนไข้ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติในวันรุ่งขึ้น คนไข้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนหลังผ่านไปเพียง 2-3 วัน
2. ในกรณีที่ต้อกระจกสุก และแข็งมาก ๆ แพทย์จะใช้วิธีผ่าตัดเปิดแผลกว้างบริเวณครึ่งบนของลูกตายาวประมาณ 10 มม. แล้วเอาเลนส์แก้วตาที่เป็นต้อกระจกออกมา แล้วจึงใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ ตามด้วยการเย็บปิดแผลด้วยไหมเย็บแผล
เวลาที่ใช้ในการผ่าต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้างใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที พักฟื้น 20-30 นาทีไม่ต้องนอนโรงพยาบาล แต่กลับบ้านได้เลย
คนไข้อาจต้องใช้เวลาปรับตัวนานหน่อยประมาณ 4-6 สัปดาห์กว่าดวงตาจะปรับโฟกัสเข้ากับเลนส์ใหม่ได้ และเห็นได้ชัดเจนในเวลาต่อมา
การใส่เลนส์แก้วตาเทียม
คนไข้ที่ต้องการผ่าต้อกระจกเพื่อแก้ปัญหาตาพร่ามัว ควรพิจารณาถึงข้อดี-ข้อจำกัดของเลนส์แต่ละประเภทเพื่อจะได้เลือกใช้ได้ถูกต้องเหมาะสมกับการใช้สายตาในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะแตกต่างกันไปในคนไข้แต่ละราย
สำหรับเลนส์แก้วตาเทียมสำหรับผ่าต้อกระจกที่ใช้ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาออกมาหลายประเภทเพื่อตอบโจทย์การมองเห็นที่ไม่เหมือนกัน และก็มีราคาที่แตกต่างกันด้วย เช่น
- เลนส์ธรรมดา (เลนส์โฟกัสระยะเดียว) ส่วนใหญ่จะให้ชัดที่ไกล
- เลนส์ชนิดแก้ไขสายตาเอียง ซึ่งมีทั้งแบบระยะเดียว และแบบหลายระยะ
- เลนส์ชนิดโฟกัสหลายระยะ เช่น แบบ 2 ระยะ - ไกลและใกล้ หรือ ไกลและกลาง : แบบ 3 ระยะ - ไกล กลาง และใกล้
สำหรับค่าใช้จ่ายผ่าต้อกระจกก็ขึ้นกับเทคนิคการผ่าตัด เลนส์แก้วตาเทียมที่ใช้ และก็ขึ้นกับสถานพยาบาลแต่ละแห่ง
การตรวจประเมินก่อนผ่าต้อกระจกเพื่อลดความเสี่ยง
จักษุแพทย์จะได้ทำการตรวจประเมินความเหมาะสมต่อการผ่าตัดสลายต้อกระจกเพื่อแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติให้คนไข้ก่อนด้วยการใช้เครื่องมือพิเศษเป็นเวลาประมาณ 3-4 ชม. เช่น วัดความหนา ความโค้งของกระจกตา แล้วจึงทำการหยอดยาขยายม่านตาเพื่อตรวจวิเคราะห์สภาพดวงตา จอประสาทตาทั้งหมดโดยละเอียด
หลังจากนั้นก็จะได้แจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพดวงตาให้คนไข้ได้รับรู้ พร้อมแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้มากที่สุด ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเลนส์แก้วตาเทียม พร้อมอธิบายขั้นตอนการผ่าต้อกระจกให้รู้โดยละเอียด
ขณะเดียวกันแพทย์ก็จะได้สอบถามคนไข้เกี่ยวกับโรคประจำตัว และยาที่ใช้ประจำเพื่อที่จะได้ให้คำแนะนำในกรณีที่ต้องผ่าต้อกระจก
การเตรียมตัวก่อนผ่าต้อกระจกที่ช่วยเสริมผลลัพธ์
การผ่าต้อกระจกเพื่อทำการรักษาอาการต้อกระจกที่อยู่ในระยะรุนแรงนั้น คนไข้ควรเลือกช่วงเวลาที่มีสภาพร่างกายพร้อมและสะดวก เพราะการผ่าต้อกระจก พักฟื้นเป็นสิ่งจำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้
การผ่าตาต้อกระจก คนไข้ต้องเตรียมตัวก่อนผ่าต้อกระจกดังต่อไปนี้
- ให้แจ้งแพทย์เกี่ยวกับโรคประจำตัว หรือ ประวัติแพ้ยา (ถ้ามี) เพื่อปรึกษาแพทย์เฉพาะทางร่วมดูแล
- ตรวจเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือตรวจอื่น ๆ ตามความเหมาะสมหากแพทย์สั่ง
- วัดค่าเลนส์ทดแทน (กรณีที่คนไข้ใส่คอนแทคเลนส์ - แบบนิ่มต้องถอดก่อนตรวจอย่างน้อย 7 วัน, แบบแข็งต้องถอดอย่างน้อย 3 สัปดาห์)
- หยอดยาป้องกันการติดเชื้อ 1-3 วันก่อนวันผ่าตัด
- งดทานยาประเภทละลายลิ่มเลือดประมาณ 7 วันก่อนการผ่าตัด
- ใส่เสื้อผ้าสวมสบายถอดใส่ง่าย
- ไม่ควรทาครีม แต่งหน้าในวันนัดผ่าตัด
เมื่อถึงวันนัดผ่าต้อกระจกตา คนไข้จะได้รับการเตรียมตัวดังนี้
- วัดความดันเลือด
- หยอดยาฆ่าเชื้อ ยาขยายม่านตา และกินยา
- เปลี่ยนเสื้อผ้าและหมวกที่โรงพยาบาลจัดเตรียมไว้ให้
- ปัสสาวะให้เรียบร้อย ห้ามกลั้นปัสสาวะ
- แพทย์จะหยอดยาชาข้างที่จะผ่าตัด และเริ่มผ่าตัดต้อกระจกเมื่อยาชาออกฤทธิ์
การดูแลหลังผ่าต้อกระจกแบบง่าย ไม่กระทบต่อการใช้ชีวิต
การปฏิบัติตัวหลังผ่าต้อกระจกสำคัญถึงแม้ว่าแผลที่เกิดจากผ่าต้อกระจกจะเล็กมาก แต่ก็เสี่ยงติดเชื้อสูง อาจเกิดอาการแทรกซ้อน หรือ ข้อผิดพลาดได้หากดูแลดวงตาได้ไม่ดีหลังผ่าตัด ดังนั้นการดูแลตัวเองหลังผ่าต้อ
กระจกตามแพทย์แนะนำควรเป็นไปอย่างเคร่งครัด ดังนี้
- ห้ามเปิดตาวันแรกหลังผ่าตัด จนกว่าแพทย์จะได้ตรวจตา หยอดตาและเช็ดตาให้ในวันถัดไป
- หลังจากนั้นตอนกลางวันให้ใส่แว่นตากันลม ฝุ่น ส่วนตอนกลางคืนให้ใส่ฝาครอบตา
- กรณีใช้อัลตราซาวด์ในการผ่าต้อกระจก ให้ใช้ฝาครอบตาตอนกลางคืนนาน 4 สัปดาห์
- กรณีการผ่าต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง ให้ครอบตานาน 6 สัปดาห์หรือจนกว่าแผลจะหาย
- ควรเช็ดตาวันละครั้งหลังใช้ยาหยอดตา
- ให้ใช้ยาหยอดตา และกินยาตามคำแนะนำของแพทย์
- ห้ามขยี้ตา เพื่อไม่ให้แผลฉีกขาด หรือเลือดออกได้
- ให้นอนหงาย สามารถนอนตะแคงได้ถ้าเมื่อย
- ระวังไม่ให้น้ำ หรือ เหงื่อเข้าตา ยกเว้นยาหยอดตาเท่านั้น
- ทำความสะอาดใบหน้าด้วยผ้าชุบน้ำบิดหมาด ๆ ห้ามล้างหน้าจนกว่าแพทย์จะอนุญาต
- ควรสระผมที่ร้านทำผมแล้วใช้ผ้าก๊อซปิดตาเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าตา
- หลีกเลี่ยงยกของหนัก ไม่ควรเกร็งหรือเบ่งกล้ามเนื้อ ในช่วง 1 เดือนแรก
- หลีกเลี่ยงการไอ หรือ จามแรง ๆ และไม่ก้มต่ำกว่าระดับเอว หรือก้มลงเก็บของ เพื่อป้องกันเลนส์เคลื่อนที่ได้ในช่วง 1 เดือนแรก
- สามารถออกกำลังกายเบา ๆ ที่ไม่กระทบกระเทือนตา
- ให้กินผักและผลไม้เป็นประจำ และดื่มน้ำบ่อยเพื่อป้องกันท้องผูก
- หลีกเลี่ยงฝุ่น ควัน ลมแรง ๆ ไม่ให้เข้าตา
- ควรพักการใช้สายตาเป็นระยะ ๆ เวลาดูหนังสือ ทีวี
- สำหรับคนที่ต้องสวมแว่นสายตาอันเดิม ให้ปิดผ้าก๊อซตาข้างที่ผ่าตัดก่อนใส่แว่นตา
- หลังผ่าต้อกระจก 1 เดือนให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจตาตามนัดหมายจนกว่าจะหาย หลังจากนั้นควรได้รับการตรวจสายตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- หากมีอาการผิดปกติ เช่น ตามัวลง ปวดตา ตาแดงมากขึ้น น้ำตาไหล มีขี้ตามาก ให้เข้าพบแพทย์ทันที
อาการแทรกซ้อนที่อาจพบหลังผ่าต้อกระจก แต่แก้ไขได้
ส่วนใหญ่การผ่าต้อกระจกตาล้วนประสบผลสำเร็จ มีน้อยถึงน้อยมากที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าต้อกระจก และก็ไม่ใช่สิ่งที่คอยต้องกังวลเพราะสามารถรักษาได้
อาการข้างเคียงหลังผ่าต้อกระจก อาจมีดังนี้
- การอักเสบของดวงตา
- ความไวต่อแสง แสงแดด
- อาการบวมน้ำที่กระจกตา หรือ จอตา
- เปลือกตาหย่อน หรือ เปลือกตาตก
- ความดันลูกตาสูง
- อาการเลือดออกในลูกตา
- ความคลาดเคลื่อนของเลนส์ตา หรือ เลนส์แก้วตาเทียมเคลื่อน
- ตามัว เพราะถุงเลนส์ตาขุ่น (posterior capsular opacification - PCO)
- รับรู้แสงกะพริบ (Photopsia)
สรุปเกี่ยวกับผ่าต้อกระจก
โรคต้อกระจกเกิดจากความเสื่อมสภาพของเลนส์ตาหรือแก้วตานั่นเอง และพบมากในผู้สูงอายุ ซึ่งก็อาจเกิดกับผู้มีอายุน้อยได้เช่นกันแต่มีโอกาสน้อยกว่า มันอาจเกิดได้กับตาข้างเดียวหรือเกิดพร้อมกันทั้ง 2 ข้างก็ได้ อย่างไรก็ตามการรักษาโรคต้อกระจกสามารถใช้วิธีผ่าต้อกระจกเพื่อแก้ปัญหาการมองเห็นให้กลับมาชัดเจนได้อีกครั้งอย่างถาวร
การผ่าต้อกระจกตาไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวอีกต่อไปถ้าคนไข้ทำความรู้จักกับโรคต้อกระจกให้มากขึ้น รู้จักการดูแลสุขภาพ และปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่ส่งผลกระทบกับดวงตา ลดโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นต้อกระจกตั้งแต่อายุน้อย