ผ่าตัดต้อกระจก แนวทางการรักษาต้อกระจกที่เห็นผลมากที่สุด
ผ่าตัดต้อกระจกอันตรายไหม มีขั้นตอนการรักษาอย่างไร ต้องพักฟื้นไหม ทำความรู้จักเกี่ยวกับการผ่าตัดต้อกระจก พร้อมวิธีการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการรักษา
เมื่ออายุเพิ่มขึ้นสายตาของเราก็เสื่อมลงตามอายุ โดยเฉพาะโรคต้อกระจก ที่เกิดจากภาวะที่เลนส์แก้วตาค่อย ๆ เกิดความขุ่นขึ้นเรื่อย ๆ แต่ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันก็มีวิธีการรักษาโดยการผ่าตัดต้อกระจก เป็นแนวทางการรักษาให้โรคต้อกระจกหายขาดได้ เพื่อแก้อาการต่าง ๆ ที่เกิดจากโรคต้อกระจก อย่างเช่น ปัญหาการมองไม่ชัด มัวเหมือนมีฝ้า หรือหมอกบัง มองเห็นสีต่าง ๆ ผิดเพี้ยนไปจากเดิม เป็นต้น ซึ่งเลนส์แก้วตาของคนเราจะเริ่มขุ่นเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป เรียกได้ว่าโรคต้อกระจกเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ และต้องให้ความระมัดระวังมากกว่าปกติ
เพื่อช่วยให้การมองเห็นกลับมาปกติอีกครั้ง ปัจจุบันจึงมีแนวทางการรักษาที่ทำให้โรคต้อกระจกหายขาดไปได้ ด้วย การผ่าตัดต้อกระจก และเป็นการรักษาเดียวที่จะทำให้โรคนี้หายขาด โดยการใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปยังเลนส์แก้วตาเดิมที่ขุ่น และใส่กลับเข้าไปที่ตำแหน่งเดิมเพื่อปรับสายตาให้มองเห็นเป็นปกติ ซึ่งวันนี้เราจะไปทำความรู้จักเกี่ยวกับการผ่าตัดต้อกระจกว่าคืออะไร มีขั้นตอนการรักษาอย่างไร การเตรียมตัวก่อนและหลังเข้ารับการรักษาควรปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อให้การผ่าตัดมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ทำไมเราถึงต้องผ่าตัดต้อกระจก?
ทำไมเราถึงต้องผ่าตัดต้อกระจก? เหตุผลที่คุณควรรักษาโดยการผ่าตัดจากที่ได้กล่าวไปคร่าว ๆ แล้วว่าแนวทางการรักษาโรคต้อกระจกที่เห็นผลและทำให้โรคนั้นหายขาดก็คือ การผ่าตัด หลังผ่าตัดจะทำให้คุณสามารถกลับมามองเห็นได้อย่างปกติ อีกทั้งยังไม่มียากินหรือยาหยอดใดที่สามารถรักษาให้ต้อกระจกลดลงหรือหายขาดได้ และการผ่าตัดต้อกระจกยังเป็นวิธีการรักษาหลักในปัจจุบันที่ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยสูงหากทำโดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และการผ่าตัดต้อกระจกจะช่วยผู้ป่วยได้ดังต่อไปนี้
- หลังผ่าตัดต้อกระจกสามารถกลับไปใช้สายตาในการมองเห็นได้ดีขึ้น และไม่ขุ่นมัวเหมือนเดิม
- การผ่าตัดต้อกระจกเป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็ก มีขนาดแผลเพียง 3 มม. ไม่ต้องมีการเย็บแผลแต่อย่างใด
- การผ่าตัดต้อกระจกเป็นการรักษาแบบหายขาด และถาวร ไม่จำเป็นต้องมานั่งเปลี่ยนเลนส์ใหม่
- การผ่าตัดต้อกระจกเกิดผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย
- การผ่าตัดต้อกระจกสามารถรักษาร่วมกับการแก้ไขปัญหาภาวะสายตาไม่ปกติได้
การผ่าตัดต้อกระจกมีกี่วิธี?
ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้มีแนวทางการรักษาโรคต้อกระจกให้หายขาดได้ ด้วยวิธีการผ่าตัดซึ่งมีวิธีการผ่าตัดต้อกระจกถึง 5 วิธีด้วยกัน ได้แก่ การผ่าตัดต้อกระจกโดยวิธีการสลายต้อ (phacoemulsification), การผ่าตัดต้อกระจกทางเลือกโดยใช้เลเซอร์ (femtosecond laser-assisted cataract surgery), การผ่าตัดต้อกระจกโดยวิธีเอาออกทั้งก้อน (extracapsular cataract extraction, ECCE), การผ่าตัดต้อกระจกแผลเล็ก (manual small incision cataract surgery, MSICS), การผ่าตัดนำเลนส์แก้วตาออกทั้งก้อนรวมทั้งถุงหุ้มเลนส์ (intracapsular cataract extraction, ICCE)
ซึ่งวันนี้เราได้เลือกวิธีการผ่าตัดต้อกระจกที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันมา 2 วิธีด้วยกัน ได้แก่
- การผ่าตัดต้อกระจกโดยวิธีการสลายต้อ (phacoemulsification) เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมสูงสุด โดยใช้เวลาการรักษาประมาณ 30 นาที และเป็นวิธีการผ่าตัดต้อกระจกที่ไม่ต้องพักฟื้นหรือนอนโรงพยาบาล ทำโดยหยอดยาชาหรือฉีดยาชาเฉพาะที่ และใช้เครื่องที่สามารถปล่อยพลังงานความถี่สูงเท่าระดับอัลตร้าซาวน์เพื่อทำการสลายต้อกระจกจนหมด จากนั้นทำการใส่เลนส์แก้วตาเทียม เพื่อให้ผู้ป่วยมองเห็นได้ปกติ
- การผ่าตัดต้อกระจกโดยวิธีเอาออกทั้งก้อน (extracapsular cataract extraction, ECCE) เป็นการผ่าตัดแบบดั้งเดิม ใช้สำหรับการรักษาต้อกระจกที่สุกและแข็งมาก ๆ จนไม่สามารถสลายได้ด้วยเครื่อง มีขั้นตอนโดย จักษุแพทย์จะเปิดแผลตามแนวรอยต่อระหว่างกระจกตาดำและผนังตาขาวประมาณ 10 มม. เพื่อนำเอาเลนส์ที่เป็นต้อกระจกออก จากนั้นทำการใส่เลนส์แก้วตาเทียมและเย็บปิดแผลด้วยไหมเย็บแผล
การปฏิบัติและเตรียมตัวก่อนผ่าตัดต้อกระจก
ในการผ่าตัดต้อกระจกสิ่งที่คุณควรเตรียมตัวเอาไว้ก่อนที่จะเข้าห้องผ่าตัด เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากที่สุด คุณควรเตรียมตัวก่อนเริ่มเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกดังต่อไปนี้
- ควรใส่เสื้อสบาย ๆ ที่สามารถถอดออกได้ง่าย ๆ และก่อนเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกให้คุณฝึกนอนหงายและมีผ้าคลุมบริเวณใบหน้า ประมาณ 20-30 นาที เพื่อเป็นการฝึกหายใจเมื่อมีผ้าคลุมบนใบหน้าให้เกิดความชิน
- ก่อนมาถึงโรงพยาบาลให้คุณสระผม และล้างหน้ามาให้เรียบร้อย
- รับประทานอาหารเช้าและยาโรคประจำตัวมาตามปกติ แต่อาจมียาบางตัวที่แพทย์ให้งดก่อนเข้ารับการผ่าตัด อย่างเช่น แอสไพริน และยาสลายลิ่มเลือด
- ถอดของมีค่าหรือเครื่องประดับออกให้เรียบร้อย และในวันผ่าตัดให้ผู้ป่วยนำญาติมาด้วย 1 คน เนื่องจากจะต้องทำการปิดตาข้างที่ทำการผ่าตัดเอาไว้
- ในการผ่าตัดต้อกระจกจะใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที ทำในห้องปลอดเชื้อโดยการหยอดยาชา ยาขยายม่านตา และยาฆ่าเชื้อก่อนเข้าห้องผ่าตัด แต่หากคุณกลัวหรือมีความกังวลสามารถขอดมยาสลบก่อนทำการผ่าตัดได้
- ขณะที่จักษุแพทย์ทำการผ่าตัดต้อกระจกให้กับผู้ป่วย ผู้ป่วยอาจเห็นแสงและการขยับไปมาของแสง รู้สึกโดนกดตา แต่ก็ไม่เจ็บเหมือนกับโดนมีดบาด
ขั้นตอนการผ่าตัดต้อกระจก
เมื่อถึงวันผ่าตัดตาต้อกระจกสิ่งที่คุณควรรู้ไว้ก่อนเริ่มเข้าการผ่าตัดคือ ขั้นตอนการผ่าตัดต้อกระจก เพื่อที่จะได้รับรู้ว่าจักษุแพทย์จะมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง หากเป็นวิธีการผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้างจะมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- ขั้นตอนแรกจักษุแพทย์จะทำการหยอดยาชาซึ่งมีทั้งแบบหยอด และแบบฉีดรอบดวงตา เพื่อไม่ให้เจ็บระหว่างการผ่าตัด และป้องกันการกลอกตาของผู้ป่วยระหว่างการผ่าตัดอีกด้วย
- จักษุแพทย์จะทำการนำเลนส์แก้วตาที่เป็นต้อกระจกออก เริ่มการเปิดแผลตามแนวรอยต่อระหว่างกระจกตาดำและผนังตาขาวบริเวณครึ่งบนของลูกตายาวประมาณ 10 มิลลิเมตร นำเลนส์แก้วตาเก่าออก แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมใหม่เข้าไปแทน และเย็บแผลด้วยไหมเย็บแผล
- เลนส์แก้วตาเทียมที่ทำการใส่เข้าไปจะเป็นแบบชัดระยะเดียว เพื่อการมองเห็นในระยะไกลได้ มีอายุการใช้งานแบบถาวร ไม่ต้องคอยเปลี่ยนใหม่ อีกทั้งหลังผ่าต้อกระจกจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยมีสายตาที่ดีขึ้นอีกด้วย
วิธีปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดต้อกระจก
เมื่อการผ่าตัดต้อกระจกเสร็จสิ้นแล้ว คุณสามารถกลับบ้านได้เลย โดยที่ไม่ต้องนอนพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาล แต่ทั้งนี้ก็จะมีการปฏิบัติตัวหลังจากที่คุณทำการผ่าตัดต้อกระจกไปแล้ว โดยมีดังต่อไปนี้
- หลังผ่าตัดต้อกระจกให้คุณสวมใส่แว่นตากันแดดและกันลม เพื่อไม่ให้เกิดการขยี้ตาหรือเกิดการกระทบกระเทือนดวงตา
- ระมัดระวังอย่าให้ตาข้างที่ทำการผ่าเกิดการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง
- ข้อห้ามหลังผ่าตัดต้อกระจก คือ ห้ามให้น้ำเข้าตาโดยเด็ดขาดตามที่จักษุแพทย์แนะนำประมาณ 2 สัปดาห์
- หลังผ่าตัดต้อกระจกผู้ป่วยไม่ควรสระผมด้วยตัวเอง ควรนอนหงายและให้ผู้อื่นสระให้แทน
- ก่อนนอนทุกคืนให้ครอบตาด้วยฝาครอบตา เพื่อป้องกันการขยี้ตาระหว่างการนอนหลับอย่างน้อย 2 สัปดาห์
- ไปตรวจตาตามที่จักษุแพทย์แนะนำ เช่น ตรวจตาหลังผ่าตัดต้อกระจก 1 เดือน
- สิ่งที่สำคัญคือผู้ป่วยควรทำตามคำแนะนำของจักษุแพทย์ที่ทำการผ่าตัดให้กับคุณอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากที่สุด และลดอาการที่ผิดปกติหลังการผ่าตัดต้อกระจก
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการผ่าตัดต้อกระจก
คำถามที่คุณอาจพบได้บ่อยเกี่ยวกับการผ่าตัดต้อกระจก มีดังต่อไปนี้
ผ่าตัดต้อกระจกใช้เวลาพักฟื้นกี่วัน?
ในการผ่าตัดต้อกระจกคุณไม่ต้องพักฟื้นหรือนอนอยู่โรงพยาบาล สามารถที่จะกลับบ้านได้เลย แต่ทั้งนี้จะต้องปฏิบัติตัว ดูแลดวงตาของคุณหลังจากผ่าตัดไปแล้วอย่างเคร่งครัด เช่น ควรระมัดระวังเรื่องของการกระทบกระเทือนดวงตาที่รุนแรง หรือไม่ให้น้ำเข้าตาโดยเด็ดขาด
ผ่าตัดต้อกระจกกี่วันถึงจะขับรถได้?
ในการผ่าตัดต้อกระจกคุณสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามปกติ และเพื่อความปลอดภัยคุณไม่ควรขับรถหลังจากผ่าตัด 1-2 วันแรก เพื่อให้การผ่าตัดต้อกระจกผ่านพ้นไปอย่างราบรื่นมากที่สุด คุณควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเกี่ยวกับวิธีการดูแลดวงตาของคุณหลังจากการผ่าตัด
ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดต้อกระจกคืออะไร?
อาการหรือผลข้างเคียงหลังผ่าตัดต้อกระจกอาจไม่ได้มีความรุนแรงมากหากคุณผ่าตัดโดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และมีการปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด แต่อาจมีผลข้างเคียงที่สามารถพบได้ อย่างเช่น การมีเลือดออกในลูกตา การติดเชื้อ ปวดตา จอประสาทตาหลุด ความไวต่อแสง หรือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เช่น ภาวะถุงเลนส์ตาขุ่น (posterior capsular opacification หรือ PCO) เป็นต้น
สรุปการผ่าตัดต้อกระจกดีอย่างไร
การผ่าตัดต้อกระจกเป็นแนวทางการรักษาโรคต้อกระจกที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งมีวิธีการผ่าตัดถึง 5 วิธีด้วยกัน โดยหลัก ๆ แล้วเป็นการใส่เลนส์แก้วตาเทียมแทนที่เลนส์แก้วตาที่เป็นต้อกระจก จะทำให้การมองเห็นของผู้ป่วยดีขึ้น อีกทั้งการผ่าตัดยังเป็นวิธีการรักษาหลักที่จักษุแพทย์เลือกใช้ในการรักษาโรคต้อกระจกให้หายขาด มีความปลอดภัย ไม่ต้องดมยาสลบ ใช้เวลาในการผ่าตัดไม่นาน หลังผ่าตัดเสร็จไม่ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลสามารถที่จะทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้ตามปกติในวันรุ่งขึ้น และเพื่อความปลอดภัยคุณควรทำกับโรงพยาบาลที่มีจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อให้การรักษานั้นมีประสิทธิภาพมากที่สุด