แจ้งออกแรงงานต่างด้าวออนไลน์ วิธีง่าย ๆ สำหรับนายจ้างทุกคน
แจ้งออกแรงงานต่างด้าวออนไลน์ วิธีง่าย ๆ สำหรับนายจ้างทุกคน
เป็นเรื่องปกติของการทำงานเมื่อถึงเวลาไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตาม การลาออกหรือย้ายออกจากที่ทำงานเก่าสามารถเกิดขึ้นได้ แรงงานต่างด้าวเองก็เช่นกัน ซึ่งแต่เดิมนายจ้างจำเป็นต้องแจ้งออกผ่านสำนักจัดหางานจังหวัด หรือที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 เขตพื้นที่ที่เป็นสถานที่ตั้งของสถานประกอบการซึ่งแรงงานต่างด้าวทำงานอยู่ แต่ปัจจุบันด้วยระบบออนไลน์ที่พัฒนาขึ้นจึงสร้างความสะดวกให้กับนายจ้างมากขึ้น โดยสามารถแจ้งออกแรงงานต่างด้าวออนไลน์ได้แล้ว ขั้นตอนไม่ยุ่งยากอย่างที่คิดด้วย
แจ้งออกแรงงานต่างด้าวออนไลน์ ต้องทำอย่างไรบ้าง
สำหรับนายจ้างที่ต้องการแจ้งออกแรงงานต่างด้าวออนไลน์ สามารถทำตามขั้นตอนที่จะบอกต่อไปนี้ได้อย่างง่ายดาย ไม่ต้องเสียเวลาในการไปยังสำนักจัดหางานใด ๆ ทั้งสิ้น
- คลิกเข้าไปหน้าเว็บไซต์ https://eservice.doe.go.th/m/ หากยังไม่เคยลงทะเบียนต้องดำเนินการให้เรียบร้อย จากนั้นล็อกอินเข้าสู่ระบบได้เลย
- เมื่อเข้ามายังหน้าจอหลัก ให้คลิกเลือก “แจ้งคนต่างด้าวออกจากงาน”
- ระบบจะลิสต์รายชื่อแรงงานต่างด้าวที่นายจ้างคนดังกล่าวดูแลและให้ทำงานอยู่ทั้งหมด หากต้องการแจ้งใครออกให้คลิกปุ่ม “แจ้งออก” สีแดงด้านขวามือได้เลย
- ระบบจะขึ้นข้อมูลของแรงงานต่างด้าวคนดังกล่าวทั้งหมด จากนั้นนายจ้างต้องระบุรายละเอียดเพิ่มเติมลงไป ได้แก่ วันที่ออกจากงาน สาเหตุที่ออกจากงาน จากนั้นจึงทำการอัปโหลดเอกสารตามเงื่อนไขที่กำหนดเอาไว้ โดยระบบสามารถรองรับได้ทั้งไฟล์ JPG, PNG, GIF และ PDF ซึ่งขนาดไฟล์ต้องไม่เกิน 256kb เสร็จแล้วคลิกปุ่ม “ยืนยันการแจ้งออก” เพื่อยืนยันข้อมูลอีกครั้ง
- ระบบทำการส่งข้อมูลเกี่ยวกับการแจ้งออกแรงงานต่างด้าวไปให้กับเจ้าหน้าที่ของสำนักจัดหางานในพื้นที่ของตนเอง นายจ้างแค่ทำการรออนุมัติก็ถือว่าเป็นอันยุติบทบาทของการเป็นนายจ้างและลูกจ้างแล้ว
ทั้งนี้สำหรับเอกสารที่ต้องใช้ในการแจ้งออกแรงงานต่างด้าวออนไลน์ก็ไม่ต่างจากการแจ้งออกปกติ ซึ่งจะประกอบด้วย
- นายจ้างต้องทำการกรอกข้อมูลใบแจ้งยกเลิกการอนุญาตทำงาน โดยนายจ้างเป็นผู้ลงนาม พร้อมสำเนา 2 ฉบับ
- ใบอนุญาตทำงานฉบับจริง (ยกเว้นกรณีคนต่างด้าวไม่สามารถติดต่อได้ ให้แนบสำเนาใบอนุญาตทำงาน ถ้ามี)
- สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนสถานประกอบการ เช่น หนังสือรับรองนิติบุคคลบริษัท (กรณีไม่เกิน 6 เดือน) ใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียน หนังสือรับรองนิติบุคคลของมูลนิธิ เป็นต้น
- สำเนาบัตรประชาชนนายจ้าง กรณีนายจ้างเป็นคนไทย หรือสำเนาใบอนุญาตทำงานของนายจ้าง กรณีนายจ้างเป็นคนต่างด้าว
- หนังสือมอบอำนาจจากนายจ้าง พร้อมติดอากรแสตมป์ 10 บาท และสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ ถ้าไม่ได้มาดำเนินการด้วยตนเอง
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้งานระบบแจ้งออกแรงงานต่างด้าวออนไลน์
นอกจากขั้นตอนที่อธิบายไปเกี่ยวกับการแจ้งออกแรงงานต่างด้าวออนไลน์ ก็ยังมีระบบอื่น ๆ ที่น่าสนใจซึ่งนายจ้างสามารถตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องการแจ้งออกแรงงานต่างด้าวได้ เพิ่มเติมความสะดวกให้มากขึ้นกว่าเดิม ดังนี้
- เช็กข้อมูลรอแจ้งผลการออก
คลิกปุ่ม “รอการแจ้งออก” จากนั้นระบบจะมีการระบุข้อมูลของแรงงานต่างด้าวที่นายจ้างได้แจ้งออกผ่านออนไลน์เอาไว้ ทั้งนี้ยังมีกรณีแรงงานแจ้งเข้าทำงานกับนายจ้างใหม่ นายจ้างเดิมจึงต้องรีบทำการแจ้งออกภายใน 15 วัน หลังแรงงานคนดังกล่าวยื่นใบลาออกแล้ว
- เช็กข้อมูลผลการยื่นเอกสาร
คลิกปุ่ม “ผลการยื่นเอกสาร” จากนั้นระบบมีการระบุผลของการยื่นเอกสารที่เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการไว้เพื่อนายจ้างจะได้ทำการแจ้งออก กรณีเอกสารไม่ครบถ้วนก็จะระบุเอาไว้ในส่วนนี้ด้วย
ข้อควรรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการแจ้งออกแรงงานต่างด้าวออนไลน์
การลาออกของแรงงานต่างด้าวที่ทำงานตามสัญญา MOU สามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบ ประกอบด้วย
- ออกจากงานโดยไม่มีสิทธิ์เปลี่ยนนายจ้าง
กรณีนี้นายจ้างไม่ได้มีส่วนผิดในการออกจากงานของแรงงานต่างด้าว เช่น แรงงานตั้งใจลาออกด้วยตนเองจากเหตุผลส่วนตัว ไม่ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับ ทำงานเสียหายแต่ไม่ได้มีการจ่ายชดเชยให้นายจ้าง เป็นต้น
- ออกจากงานโดยมีสิทธิ์เปลี่ยนนายจ้าง
แรงงานต่างด้าวสามารถลาออกจากงานเดิมและมีสิทธิ์เปลี่ยนนายจ้างได้หากเกิดกรณีต่าง ๆ เหล่านี้
- นายจ้างเลิกจ้าง / เสียชีวิต
- นายจ้างจ่ายเงินไม่ตรงกับสัญญาที่ระบุไว้ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน หรือไม่ทำตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญา
- นายจ้างกระทำทารุณกรรม ทำร้ายร่างกายหรือจิตใจลูกจ้าง
- นายจ้างลดกำลังการผลิต ล้มละลาย ไม่สามารถมีงานให้กับลูกจ้างได้
- สภาพแวดล้อมในการทำงานไม่เหมาะสม มีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยต่อร่างกาย จิตใจ ไปจนถึงขั้นเสี่ยงต่อชีวิตของแรงงาน
ไม่ว่าจะเป็นการลาออกของแรงงานต่างด้าวด้วยวิธีใดก็ตามนายจ้างต้องดำเนินการแจ้งออกแรงงานต่างด้าวออนไลน์ หรือจะแจ้งโดยตรงกับสำนักจัดหางานพื้นที่ของตนเองทันทีภายในเวลา 15 วัน นับตั้งแต่มีการระบุไว้ในใบลาออก หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวจะถูกปรับเป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท
จากข้อมูลทั้งหมดเห็นชัดเจนว่าการแจ้งออกแรงงานต่างด้าวออนไลน์ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากใด ๆ ทั้งสิ้น ในอีกมุมหนึ่งยังช่วยสร้างความสะดวกต่อนายจ้างด้วยซ้ำ ไม่ต้องเสียเวลาไปยังสำนักจัดหางาน เพียงแค่ทำผ่านหน้าเว็บไซต์พร้อมแนบไฟล์เอกสารที่ระบุครบถ้วน รอทางเจ้าหน้าที่พิจารณาอนุมัติก็เรียบร้อย
ส่วนนายจ้างคนไหนกำลังมองหาแรงงานต่างด้าว หรือต้องการสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจ้างแรงงานแต่ไม่แน่ใจว่าต้องทำอย่างไรบ้าง บริษัท จ๊อบส์ เวิร์คเกอร์ เซอร์วิส จำกัด ยินดีให้ความช่วยเหลือนำเข้าแรงงานต่างด้าวแบบครบวงจร คลิกเลย https://www.jobsworkerservice.com/