"ซินดี้ สิรินยา" นำทีมเสวนา หัวข้อ “Sexual Harassment: หยุดการคุกคามทางเพศ...เริ่มต้นที่ใคร” ในงาน พม.มอบรางวัลสื่อสร้างสรรค์ให้สังคมตระหนักเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ
ในวันนี้ (๘ กรกฎาคม ๑๕๖๔ ) นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานเปิดงานมอบรางวัลสื่อสร้างสรรค์"Gender Equality" พร้อมทั้งเชิดชูเกียรติผู้ชนะการประกวดฯ โดยมี นางสาวสุนีย์ ศรีสง่าตระกูลเลิศ รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พร้อมด้วยผู้ได้รับรางวัล ผู้เข้าร่วมกิจกรรมการประกวดสื่อสร้างสรรค์ฯ ผ่าน Application Zoom และถ่ายทอดสดทาง Facebook กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว
นางสาวจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) มีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘ มุ่งเน้นการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ การคุ้มครองและป้องกันมิให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ รวมถึงการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศให้กับสาธารณชน นอกจากนี้ยังมีกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศตามที่กฎหมายกำหนด เช่น กิจกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ การคุ้มครองและป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ การช่วยเหลือ ชดเชยและเยียวยา หรือบรรเทาทุกข์แก่บุคคลซึ่งตกเป็นผู้เสียหายจากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ถึงแม้สถานการณ์ในเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศในสังคมไทยมีแนวโน้มและทิศทางที่ดีขึ้น
"ขณะเดียวกันเหตุการณ์การถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศก็ยังคงมีปรากฏให้เห็น อาทิ การประกาศรับสมัครงานที่ระบุรับเฉพาะบางเพศ แรงงานหญิงถูกเลิกจ้างเนื่องจากตั้งท้อง กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศหรือกลุ่ม LGBT ยังถูกเลือกปฏิบัติฯ บ้างก็ถูกตีตราด้วยภาพลบจากการนำเสนอของสื่อ อีกทั้งข่าวเหตุการณ์การถูกล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งในสถานที่ทำงาน หรือในพื้นที่สาธารณะ เหล่านี้ล้วนมีที่มาจากปัญหาความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ นอกจากนี้ นับแต่กฎหมายประกาศใช้จนถึงปัจจุบัน พบว่า ประชาชนทั้งหญิง ชาย และผู้แสดงออกแตกต่างจากเพศโดยกำเนิด ยังเข้าถึงสิทธิประโยชน์ตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศฯ ได้ไม่มากนัก เนื่องจากประการแรก สังคมยังขาดการรับรู้เกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ ประการที่ ๒ ประชาชนมีต้นทุนที่แตกต่างกัน แม้จะมีการรับรู้ แต่บางกรณีก็ไม่มีความกล้าหาญมากพอที่จะใช้ช่องทางกฎหมายเพื่อช่วยเหลือตนเอง และประการสุดท้ายจากความไม่เข้าใจในเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศจึงไม่รู้ว่าสามารถใช้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนทุกกลุ่มให้สามารถเข้าถึงสิทธิและประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงมีการปรับปรุงระเบียบและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสิทธิ ตลอดจนสร้างและขยายเครือข่ายเพื่อช่วยเผยแพร่และทำให้การรับรู้ขยายสู่วงกว้าง"
อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวต่อไปว่า เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเนื้อหาและรูปแบบการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศอย่างมีคุณภาพ สร้างสรรค์ หลากหลายและสอดคล้องกับบริบทของสังคมปัจจุบัน จึงได้จัดการประกวดสื่อสร้างสรรค์ ในหัวข้อ “Gender Equality” ขึ้น จำนวน ๓ ประเภทรางวัล ได้แก่ (๑) สปอตโฆษณา (๒) สารคดีสั้น และ (๓) โปสเตอร์ออนไลน์ โดยแบ่งประเภทผู้ส่งผลงานออกเป็น ๒ประเภท ได้แก่ (๑) นักเรียน นิสิตนักศึกษา และ (๒) ประชาชนทั่วไป มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดเป็นจำนวนมาก และได้มีการตัดสินการประกวดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นที่มาของการจัดงานมอบรางวัลในวันนี้ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติและเป็นกำลังใจแก่เจ้าของผลงานที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนดำเนินงานด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศด้วยการผลิตสื่อสร้างสรรค์เผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้ตระหนักในเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศมากยิ่งขึ้น ผลงานที่ส่งมาร่วมการประกวดในครั้งนี้ทำให้พบว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่มีความสนใจเกี่ยวกับประเด็นความเท่าเทียมระหว่างเพศอย่างมาก
"มีการนำเสนอมุมมอง ความคิดเห็น และสะท้อนประสบการณ์ที่พบเจอเกี่ยวกับการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศที่หลากหลายและน่าสนใจ นับเป็นข้อมูลสำคัญที่ พม.ต้องนำมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนางาน และรูปแบบกิจกรรม เพื่อสร้างความตระหนักและการรับรู้เรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ โดยเฉพาะเร่งสื่อสารให้ประชาชนทั้งหญิง ชาย และผู้แสดงออกแตกต่างจากเพศโดยกำเนิด และทุกภาคส่วนได้รับทราบ เข้าใจในเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่กระทำการที่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และรับรู้สิทธิของตนเองว่าหากถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศสามารถมายื่นคำร้องและขอความช่วยเหลือเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ ตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้"
นางสาวสุนีย์ ศรีสง่าตระกูลเลิศ รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวเสริมว่า กิจกรรมในวันนี้ยังมีการเสวนาหัวข้อ “Sexual Harassment: หยุดการคุกคามทางเพศ...เริ่มต้นที่ใคร” ซึ่งได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณซินดี้ สิรินยา บิชอฟ นางแบบ/นักแสดง ทูตสันถวไมตรี UN Women ประจำภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก และผู้ก่อตั้งโครงการ #donttellmehowtodress นายนรินทร์ กรินชัย ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ นางสาวกรรณนิกา เจริญลักษณ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว นางสาวอภิชญา โพธิ์ทอง และ นางสาวภัคมัย แจ้งบางใหญ่ กรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนนักศึกษา ผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการหยุดคุกคามทางเพศ เข้าร่วมการเสวนา ดำเนินการเสวนาโดย ดร. ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศโดยมุ่งหวังว่าการเสวนาในวันนี้จะทำให้สังคมตระหนักว่าประเด็นการคุกคามทางเพศ หรือ Sexual Harassment นั้น ไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นการสะท้อนภาพสังคมที่ยังมีความเหลื่อมล้ำ ซึ่งมีฐานปัญหามาจากความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคม และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความตระหนักให้กับสังคม ให้เกิดการยอมรับความแตกต่าง เคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไม่กระทำการอันเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ
"หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะสามารถปลุกพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม ในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมคุณภาพ ที่เคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่พร้อมให้โอกาส ยอมรับความแตกต่าง และไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ เพราะสังคมแห่งความเท่าเทียมระหว่างเพศ...เริ่มต้นได้ที่ตัวเรา" นางสาวสุนีย์ฯ กล่าวในท้ายที่สุด