เปิดโลกผู้สูงวัย!กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวง พม. จัดงานมหกรรมภูมิปัญญา พัฒนาผู้สูงวัยในทุกมิติ ภายใต้แนวคิด “ทอดน่องท่องตลาด ชมปราชญ์วัยเก๋า”
นายยุพ นานา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการเป็นประธานเปิดงานมหกรรมภูมิปัญญา พัฒนาผู้สูงวัยในทุกมิติ ภายใต้แนวคิด “ทอดน่องท่องตลาด ชมปราชญ์วัยเก๋า” โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้แสดงผลงานหรือผลิตภัณฑ์ รวมถึงสินค้าที่มาจากฝีมือและภูมิปัญญาของผู้สูงอายุโดยตรง โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวง พม. พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนผู้สูงอายุ เข้าร่วมงาน ณ ลานเอนกประสงค์ชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
นายยุพ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ได้ดำเนินงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเสริมสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุมาอย่างต่อเนื่อง โดยนำความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ของผู้สูงอายุมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคม ซึ่งปัจจุบัน มีจำนวนผู้สูงอายุที่ได้จดทะเบียนเป็นคลังปัญญาผู้สูงอายุและมีจิตอาสา พร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้และภูมิปัญญาอยู่ทั่วประเทศกว่า 29,900 คน ทั้งนี้ จึงมีการจัดงาน “มหกรรมภูมิปัญญา พัฒนาผู้สูงวัยในทุกมิติ” ภายใต้แนวคิด “ทอดน่องท่องตลาด ชมปราชญ์วัยเก๋า” มาอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้แสดงผลงานหรือผลิตภัณฑ์ รวมถึงสินค้าที่มาจากฝีมือและภูมิปัญญาของผู้สูงอายุโดยตรง ทำให้เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับ ความชื่นชมในคุณค่า อีกทั้งยังเป็นทางเลือกให้กับภาคธุรกิจเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมให้การสนับสนุนหรือต่อยอดสินค้า ผลิตภัณฑ์ของผู้สูงอายุ เป็นการช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการสร้างความภาคภูมิใจ ในการร่วมเป็นกำลังผลิตของสังคม (Productive Ageing) อีกด้วย
นายยุพ กล่าวต่อไปว่า สำหรับงาน “มหกรรมภูมิปัญญาผู้สูงอายุ พัฒนาผู้สูงวัยในทุกมิติ ” มีกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ 1) การสาธิตและการถ่ายทอดภูมิปัญญาของผู้สูงอายุให้กับประชาชนร่วมงาน จำนวน 40 ภูมิปัญญา โดยสามารถนำ ผลิตภัณฑ์หรือผลงานที่ตนเองกลับบ้านได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อาทิ การทำกระเป๋าหนัง สร้อยข้อมือหินมงคล ปั้นขลิบบัวสาย ตะกร้าวัสดุรีไซเคิล และผ้าพันคอมัดย้อม เป็นต้น 2) การเสวนาในหัวข้อ “การสร้างแรงบันดาลใจและการเสริมคุณค่าภูมิปัญญา” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้สูงอายุที่ต้องการเริ่มต้นประกอบอาชีพ หรือการเข้ามาร่วมเป็นคลังปัญญาจิตอาสา 3) การจำหน่ายสินค้า และผลิตภัณฑ์ผู้สูงอายุ จำนวน 90 ร้านค้า ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายคลังปัญญาผู้สูงอายุ ทั้งในพื้นที่ เขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และทุกภูมิภาคทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการเล่นเกมส์ชิงรางวัล การแข่งขันทำอาหารไทย การประกวดร้องเพลงลูกกรุง และการแสดงชุดต่าง ๆ จากชมรมผู้สูงอายุ
"การจัดงานครั้งนี้จะทำให้สังคมได้ตระหนักและเห็นคุณค่าถึงศักยภาพด้านภูมิปัญญาของผู้สูงอายุ พร้อมทั้งเป็นโอกาสสำคัญที่เสริมสร้างความเข้าใจระหว่างผู้สูงอายุและคนทุกช่วงวัยได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะส่งผลให้ผู้สูงอายุเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในคุณค่าของตัวเอง อีกทั้งการถ่ายทอดความรู้และภูมิปัญญาต่างๆ ให้กับคนรุ่นหลังจะเป็นการช่วยสืบสานและต่อยอดคุณค่าที่ดีงามของภูมิปัญญาไทยให้คงอยู่คู่กับสังคมไทยอย่างยาวนาน"