ค้นหาสาเหตุของผื่นคัน ผื่นแบบไหนเกิดจากอะไร
ทั้งมลภาวะต่างๆ และสภาพแวดล้อมรอบตัวที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน อาจทำให้ใครหลายๆ คนกำลังประสบกับปัญหาการเกิดผื่นคัน ซึ่งไม่รู้ที่มาว่าผื่นขึ้นตามตัวคันเกิดจากอะไรกันแน่ บทความนี้เราจะมาสังเกตลักษณะผื่นคันต่างๆ กันว่าผื่นขึ้นตามตัว ผื่นคัน เกาแล้วลาม ตุ่มแดงขึ้นตามตัวคัน ตุ่มคันต่างๆ เหล่านี้มีสาเหตุมาจากอะไร สามารถป้องกันและมีวิธีการรักษาอย่างไรบ้าง
ลักษณะผื่นคันต่างๆ
ผื่นคัน คือ อาการทางผิวหนังที่เกิดจากกลไกทางอิมมูนต่อปฏิกิริยาการแพ้ ซึ่งเป็นกลไกป้องกันไม่ให้เชื้อโรคต่างๆ เข้าสู่ร่างกาย ตุ่มคันจะเกิดขึ้นเมื่อได้รับปัจจัยกระตุ้น โดยลักษณะผื่นคันต่างๆ ที่ปรากฏ จะมีลักษณะแตกต่างกันไปตามสาเหตุและความรุนแรงของอาการ ได้แก่ ผื่นคัน ผื่นแดงเป็นปื้นคัน ผื่นแดงไม่คัน ผื่นคันตุ่มเล็กๆใสๆ อาการคันยุบยิบตามตัวไม่มีผื่น ฯลฯ
โดยสาเหตุของอาการผื่นคันสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายๆ ปัจจัย ได้แก่ ผื่นคันที่เกิดจากผิวหนังอักเสบ (Eczema) ผื่นคันที่เกิดจากผิวแห้ง (Dry Skin) ผื่นคันที่เกิดจากผิวขาดความชุ่มชื้น (Dehydration) ผื่นคันที่เกิดจากโรคภูมิแพ้ (Allergies) ผื่นคันที่เกิดจากโรคลมพิษ (Hives) และผื่นคันที่เกิดจากแมงกัดต่อย (Bug bites) โดยสามารถอ่านรายละเอียดต่างๆ ได้ในหัวข้อถัดไป
บริเวณที่มักเกิดผื่นคัน
ผื่นคันสามารถเกิดได้ทั้งบริเวณต่างๆ ของร่างกาย เช่น ผื่นขึ้นหน้า ผื่นขึ้นคอ ผื่นคันที่ขาและแขน หรือผื่นขึ้นตามตัว ตามบริเวณข้อพับต่างๆ เช่น ข้อพับแขน ข้อพับขา รักแร้ ซอกขา เป็นต้น
6 สาเหตุการเกิดผื่นคัน
สาเหตุของการเกิดผื่นคัน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ ผื่นคันที่เกิดจากปัจจัยภายใน และผื่นคันที่เกิดจากปัจจัยภายนอก โดยมีรายละเอียดต่างๆ ดังนี้
1. ผื่นคันที่เกิดจากผิวหนังอักเสบ (Eczema)
ผื่นผิวหนังอักเสบ เกิดจากปฏิกิริยาการอักเสบที่ผิวหนังบริเวณต่างๆ เช่น ใบหน้า หนังศีรษะ แขนขา ข้อศอก หรือลำตัว เมื่อเกิดการอักเสบแล้วจะแสดงออกมาได้หลายรูปแบบ โดยลักษณะอาการอาจมีผื่นแดงคัน ผิวแห้งตกสะเก็ดเป็นขุย หรือมีตุ่มเล็กๆ ซึ่งการอักเสบของผิวหนังนี้เกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น สัมผัสกับสารก่อระคายเคือง การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ความเครียด ฯลฯ หรือบางรายอาจตรวจไม่พบสาเหตุ ทั้งนี้ข้อควรระวังคือการเกาจนเกิดบาดแผลและการติดเชื้อแทรกซ้อน
2. ผื่นคันที่เกิดจากผิวแห้ง (Dry Skin)
ผิวแห้งเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการคัน โดยปัจจัยภายนอกจากสิ่งแวดล้อมที่อาจทำให้ผิวแห้ง ได้แก่ สภาพอากาศที่ร้อนจัด เย็นเกินไป หรือมีความชื้นต่ำ การล้างหน้ามากเกินไป รวมทั้งเมื่อมีอายุมากขึ้น ผิวก็จะบางลงและแห้งขึ้นได้ ลักษณะอาการของผิวแห้ง ได้แก่ เกิดอาการคัน ผิวลอกเป็นขุย ผิวหนังหรือริมฝีปากแห้งแตกและอาจมีเลือดออก เป็นต้น โดยอาจใช้โลชั่นหรือมอยเจอร์ไรเซอร์เพื่อช่วยบรรเทาอาการผิวแห้งได้
3. ผื่นคันที่เกิดจากผิวขาดความชุ่มชื้น (Dehydration)
เมื่อร่างกายได้รับน้ำในปริมาณที่ไม่เพียงพอจะส่งผลให้ร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำ ซึ่งจะทำให้ผิวแห้ง เนื่องจากขาดความชุ่มชื้น และส่งผลให้เกิดอาการคันได้ โดยผิวของคนที่ขาดน้ำมักจะดูแห้ง หมองคล้ำ หรือหย่อนคล้อย เมื่อบีบตามผิวหนัง ก็จะไม่เด้งคืนตัว หรือสังเกตอาการได้จากปริมาณปัสสาวะที่ลดลง มีสีเหลืองเข้ม และมีกลิ่นแรงขึ้น รวมทั้งริมฝีปากจะรู้สึกแห้ง และอาจเกิดอาการอื่นๆ ของภาวะขาดน้ำร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ เหนื่อยล้า และปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น
4. ผื่นคันที่เกิดจากโรคภูมิแพ้ (Allergies)
การระคายเคืองและการแพ้ซึ่งทำให้ผิวหนังเกิดผื่นคัน จะเกิดขึ้นเมื่อผิวหนังสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้โดยตรง เช่น สัตว์เลี้ยง สารเคมี สบู่ ยาย้อมผม เครื่องสำอาง และสารต่างๆ รวมถึงการแพ้อาหาร ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้จนทำให้ผิวหนังเกิดการคันได้ โดยลักษณะของอาการคือมีผื่นแดงคัน คันมากขึ้นเมื่อเหงื่อออก และอาจเป็นๆ หายๆ โดยอาจเกิดร่วมกับแผลพุพองหรือตุ่มเล็กๆ คันและบวม ณ จุดที่สัมผัส
สามารถตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ที่ผิวหนังด้วยการทำ Patch Test โดยปิดแผ่น Finn Chamber ไว้ที่หลังบริเวณแผ่นหลังระหว่างสะบัก เป็นระยะเวลา 2 วัน ห้ามถูกน้ำ จากนั้นจึงมาเปิดดูว่ามีปฏิกิริยากับสารเคมีตัวไหน เพื่อให้ทราบแน่ชัดว่าแพ้อะไร หากทราบแล้วว่าเกิดอาการแพ้กับสิ่งใด ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์หรือสารนั้นๆ
5. ผื่นคันที่เกิดจากโรคลมพิษ (Hives)
ลมพิษคือการอักเสบของผิวหนังชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อย เกิดได้จากหลายสาเหตุ ลมพิษอาการคือผิวหนังบวม เกิดผื่นนูนแดงและคัน โดยผื่นลมพิษมักเป็นอยู่ไม่เกิน 24-28 ชั่วโมงจึงยุบลง หลังจากนั้นอาจกลับมามีผื่นคันขึ้นใหม่อีก โดยมักจะเป็นๆ หายๆ หรือย้ายตำแหน่งที่เกิดผื่นคันไปเรื่อยๆ
ลมพิษมี 2 ประเภท คือ 1. ลมพิษเฉียบพลัน (Acute hives) โดยอาการจะเกิดขึ้นหลังจากสัมผัสกับสิ่งกระตุ้นการแพ้ เช่น อาหารและยาบางชนิด แมลงสัตว์กัดต่อย หรือการติดเชื้อในร่างกาย และ 2. ลมพิษเรื้อรัง (Chronic hives) คือลมพิษที่เป็นอยู่นานเกิน 6 สัปดาห์ ซึ่งสามารถกลับมาเป็นอีกครั้ง โดยลมพิษเรื้อรังมักไม่พบสาเหตุ หรือสิ่งกระตุ้นเหมือนลมพิษเฉียบพลัน
ลมพิษไม่ได้เป็นโรคติดต่อ แม้โดยทั่วไปจะไม่เป็นอันตราย แต่หากเกิดอาการบวมที่ริมฝีปาก ตา ลิ้น ลำคอ หรือแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ควรรีบพบแพทย์อย่างเร่งด่วน
6. ผื่นคันที่เกิดจากแมงกัดต่อย (Bug bites)
เมื่อถูกแมลงสัตว์กัดต่อย อาจเกิดอาการแพ้ซึ่งส่งผลให้เกิดอาการบวม แดง และมีผื่นคันบริเวณที่ถูกกัดต่อย ซึ่งเกิดจากการสัมผัสกับพิษหรือขนบนตัวแมลง โดยแมลงต่างๆ ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ยุง มด หมัด เหา เรือด แมงมุม ตัวบุ้ง เป็นต้น อาการผื่นคันเป็นอาการแพ้แบบไม่รุนแรง แต่ถ้าหากเกิดอาการแพ้แมลงกัดต่อยอย่างรุนแรง หรือมีอาการเกิดลมพิษ ลิ้นบวม คอบวม คลื่นไส้อาเจียน หรือหายใจลำบาก ควรรีบพบแพทย์ในทันที
รูปแบบการเกิดผื่นคัน
ลักษณะและอาการของผื่นคัน จะมีทั้งรูปแบบผื่นคันจากการติดเชื้อและผื่นคันที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ โดยมีลักษณะดังนี้
ผื่นคันจากการติดเชื้อ
อาการผื่นคันตามผิวหนังสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยกลุ่มอาการที่พบได้บ่อยคือ ผื่นเชื้อรา ซึ่งคือการติดเชื้อราในรูปแบบต่างๆ เช่น กลาก เกลื้อน และการติดเชื้อแคนดิดา (Candidiasis) ซึ่งสามารถเกิดได้ทุกส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นหนังศีรษะ ลำคอ ใบหน้า ลำตัว ขาหนีบ รักแร้ เท้า เป็นต้น
- กลาก ลักษณะอาการคือเกิดวงๆ สีขาว ซึ่งมีขอบเขตชัดเจน มีอาการคัน เกิดในบริเวณ ใบหน้า หลัง และลำตัว ส่วนมากมักพบในผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง นักกีฬา หรือผู้ที่ไม่ค่อยอาบน้ำ
- เกลื้อน ลักษณะอาการจะคล้ายกันกับกลากคือเกิดวงสีขาว สีน้ำตาล หรือสีดำเรียบๆ แต่ไม่คัน ทว่าหากเหงื่อออกมาก อาจมีอาการคันเล็กน้อย
- การติดเชื้อแคนดิดา (Candidiasis) ลักษณะอาการคือผื่นแดงนูน ผิวหนังเปื่อย และมีอาการคัน สามารถลามได้ มักพบบริเวณที่อับชื้น เช่น ข้อพับ ขาหนีบ รักแร้ หรือใต้ราวนม รวมทั้งสามารถพบได้ในช่องปาก ลักษณะเหมือนฝ้าขาวบริเวณลิ้น โดยส่วนใหญ่มักพบในผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ผื่นคันที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ
- ผื่นแพ้อากาศ ผื่นคันแพ้เหงื่อ ผื่นคันแพ้ฝุ่น เป็นอาการของผิวหนังอักเสบที่เกิดจากปฏิกิริยาตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้หรือปัจจัยกระตุ้นต่างๆ ลักษณะของผื่นจะเป็นผื่นคัน ผื่นแดงบนผิวหนัง ยิ่งคันมากขึ้นเมื่อเหงื่อออก ผิวแห้งเป็นขุย เป็นๆ หายๆ โดยอาจเกิดพร้อมกับอาการแพ้อากาศร่วมด้วย เช่น ไอ คัดจมูก มีน้ำมูก
- ผื่นแพ้ตัวเอง (โรคพุ่มพวง) ผื่นแพ้ตัวเองที่มีสาเหตุมาจากโรคพุ่มพวง หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) โดยจะมีลักษณะอาการคือผื่นแดงบริเวณใบหน้า แขน ขา หรือบริเวณที่โดนแดด รวมถึงมักปรากฏอาการอื่นๆ ของโรคร่วมด้วย เช่น ปวดข้อจากการอักเสบ มีแผลในปาก ฯลฯ
วิธีป้องกันและรักษาผื่นคัน
วิธีป้องกันและรักษาผื่นคัน สามารถทำได้โดย
1. การใช้ยารักษาผื่นคัน
รักษาผื่นคันด้วยยาเบื้องต้น สามารถรักษาได้ด้วยยาใช้ภายนอกและยาชนิดรับประทาน โดยยาใช้ภายนอก ได้แก่ ครีมไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone cream) ยาสเตียรอยด์สำหรับรักษาอาการอักเสบทางผิวหนังต่างๆ ยาขี้ผึ้ง เช่น โลชั่นคาลาไมน์ การประคบเย็น และการอาบน้ำด้วยข้าวโอ๊ต เพื่อบรรเทาผื่นคันและเติมความชุ่มชื้นให้ผิวที่แห้ง และยาชนิดรับประทาน ได้แก่ ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮีสตามีน (Antihistamines)
2. พักผ่อนให้เพียงพอและทานอาหารที่มีประโยชน์
ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกาย
3. เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว
ลดการเกิดผื่นคันด้วยการหมั่นทาครีมหรือโลชั่นให้ความชุ่มชื้น เพื่อทำให้ผิวไม่แห้งจนเกินไป และควรหลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่น
4. ลดการระคายเคือง
ควรอาบน้ำทันทีเมื่อกลับจากข้างนอกเพื่อล้างฝุ่นและเหงื่อออก ควรเลือกใส่เสื้อผ้าที่นุ่มสบาย ระบายอากาศได้ดี โดยเนื้อผ้าไม่ควรหยาบ หรือไม่ควรรัดรูปจนเกินไป เพื่อช่วยลดการระคายเคืองต่อผิวหนัง
5. รักษาด้วย UV Phototherapy
การฉายแสงอัลตราไวโอเลตที่มีคลื่นความถี่เพื่อการรักษาผื่นผิวหนังบางชนิด โดยจะเป็นการช่วยกดภูมิต้านทานของร่างกายไม่ให้ไวต่อสิ่งแวดล้อม และยับยั้งการอักเสบของผิวหนัง
คำถามที่พบบ่อย
ทายาแก้ผื่นคันแล้วยังไม่หายทำอย่างไรดี
หากทายาแก้ผื่นคันหรือประคบเย็นแล้วแต่อาการผื่นคันยังไม่ทุเลาลง อีกทั้งยังมีอาการรุนแรงขึ้น หรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการวินิจฉัย
ตรวจหาสาเหตุของผื่นคัน ได้อย่างไร
แพทย์มักใช้การตรวจสารก่อภูมิแพ้แบบมาตรฐาน T.R.U.E. Test ( The thin-layer rapid-use epicutaneous test) ด้วยวิธีใช้แผ่นทดสอบ (Patch test) ซึ่งเป็นการทดสอบโดยใช้แผ่นทดสอบ 3 แผ่น หนึ่งแผ่นต่อการทดสอบสารก่อภูมิแพ้ 12 ชนิด ตรวจสารก่อภูมิแพ้ทั้งหมด 35 ชนิด และสารควบคุมอีก 1 ชนิด รวมเป็น 36 ชนิด แปะไว้บนบริเวณแผ่นหลัง 48 ชั่วโมง
แล้วแพทย์จะมีการนัดเพื่ออ่านผล ต่อมาแพทย์จะถอดแผ่นทดสอบออกเพื่อดูว่ามีปฏิกิริยาใดๆ หรือไม่ โดยอาจต้องกลับมาพบแพทย์อีก 2-3 ครั้ง เนื่องจากปฏิกิริยาบางอย่างอาจแสดงได้นานถึง 10 วันหลังจากนั้น
เกาผื่นคันแล้วลามไปบริเวณใกล้เคียงทำอย่างไรดี
ผื่นคัน เกาแล้วลาม อาการคันยุบยิบตามตัวมีผื่น คันมากขึ้นเมื่อเหงื่อออก หรือยิ่งเกายิ่งคัน ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนจัด ไม่ควรทำกิจกรรมกลางแจ้ง ออกกำลังกาย หรือกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออกมากๆ หรือกรณีที่มีผื่นคันมากๆ จนรบกวนชีวิตประจำวัน หรืออาการลมพิษตอนกลางคืนซึ่งรบกวนการนอน อาจรับประทานยาแก้แพ้หรือยาต้านฮีสตามีน แต่ถ้าหากยังไม่หาย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย
ข้อสรุป
ลักษณะของผื่นคันนั้นมีหลายแบบ อีกทั้งยังสามารถเกิดขั้นได้จากหลากหลายสาเหตุ โดยคุณอาจลองสังเกตลักษณะผื่นคันต่างๆ ของตัวเองดูว่าเป็นผื่นแดงคันประเภทไหน และหากลองใช้วิธีการป้องกันและรักษาเบื้องต้นดูแล้ว แต่ตุ่มแดงขึ้นตามตัวคันก็ยังไม่ลดลง ควรลองเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อค้นหาวิธีการรักษาอย่างถูกต้องและตรงจุดต่อไป