ไขความลับ Probiotics ช่วยเรื่องอะไร เหตุใดไม่ควรมองข้าม
มารู้จัก Probiotics อาหารจากธรรมชาติที่ดีต่อร่างกาย
ปัจจุบันในท้องตลาดมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ช่วยดูแลสุขภาพและเสริมภูมิคุ้มกันภายในร่างกายมากมาย แต่ในช่วงที่มีโรคโควิด-19 ระบาดอย่างไม่แผ่ว ผู้คนจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจโพรไบโอติกส์ (Probiotics) สารอาหารที่ช่วยกระตุ้นให้ระบบทางเดินอาหารและระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น รวมถึงเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย เพราะประโยชน์ของโพรไบโอติกส์ที่ดูไม่ธรรมดา ทำให้หลายคนอยากเติม Probiotics เข้าสู่ร่างกาย แต่เพื่อให้การทานโพรไบโอติกส์เกิดประโยชน์สูงสุด ตามมาดูกันว่าโพรไบโอติกส์ช่วยเรื่องใดบ้าง ควรกินตอนไหน และมีข้อควรระวังอะไรที่ต้องรู้
ทำความรู้จักโพรไบโอติกส์ อาหารเสริมเพื่อสุขภาพคนรุ่นใหม่
โพรไบโอติกส์หรือโปรไบโอติกส์ (Probiotics) คือกลุ่มแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์มีชีวิตที่พบได้ตามธรรมชาติภายในร่างกายของมนุษย์ สำหรับแบคทีเรียชนิดดีอย่างโพรไบโอติกส์หากมีปริมาณที่เหมาะสมและเพียงพอจะช่วยให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายทำงานได้อย่างสมดุลมากขึ้น โดยเฉพาะระบบทางเดินทางอาหาร ทั้งยังกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โพรไบโอติกส์ ช่วยเรื่องอะไร มีประโยชน์ขนาดไหน
ตามที่เกริ่นไว้ข้างต้น โพรไบโอติกส์เป็นจุลินทรีย์ชนิดดีที่อาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะในส่วนระบบทางเดินอาหาร รวมถึงในระบบอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ในระบบทางเดินหายใจ ภายในช่องปาก บริเวณผิวหนัง หรือทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น ซึ่งโพรไบโอติกส์เหล่านี้มีบทบาทสำคัญมากมายกับระบบอวัยวะในร่างกาย ได้แก่
- ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหารให้มีความสมดุล รวมถึงลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และกระตุ้นการขับถ่ายให้ทำงานได้อย่างปกติ ที่สำคัญยังช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ได้อีกด้วย
- ช่วยลดการอักเสบของลำไส้ พร้อมปรับสภาพของระบบทางเดินอาหารให้กลับมาสู่สภาวะปกติได้
- สร้างเกราะป้องกันบริเวณเยื่อบุลำไส้ ไม่ให้เชื้อโรคหลุดลอดออกจากทางเดินอาหารเข้าสู่ร่างกาย
- ช่วยป้องกันและบรรเทาอาการท้องเสีย โดยเฉพาะอาการท้องเสียที่เกิดจากเชื้อไวรัส
- ช่วยกระตุ้นการสร้างเอนไซม์ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหารและเร่งการเผาผลาญอาหาร
- ช่วยปรับสมดุลแบคทีเรียในช่องคลอด เป็นการป้องกันปัญหาติดเชื้อราในช่องคลอดของสาว ๆ
- เพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย และช่วยรักษาอาการภูมิแพ้ ผื่นคัน หอบหืด
- กระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารต่อต้านหรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ไม่ดีออกไปผ่านการขับถ่าย
โพรไบโอติกส์ ช่วยลดอาการลองโควิด
แม้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) มีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ผู้คนจำนวนไม่น้อยยังพะวงกับโควิด-19 โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งหายจากโควิด-19 แล้วร่างกายต้องเผชิญกับอาการลองโควิด เช่น อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ อ่อนล้า หายใจไม่อิ่ม เหนื่อยง่าย เป็นต้น ขณะเดียวกันกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำให้ผู้ป่วยที่มีอาการลองโควิด ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รวมถึงเลือกทานอาหารที่มีโพรไบโอติกเพื่อฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรง และช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เนื่องจากโพรไบโอติกส์เข้าไปกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาว B lymphocyte หรือ B cell ซึ่งเม็ดเลือดขาวชนิดนี้จะไปสร้างเป็นแอนตี้บอดี เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ร่างกายให้สามารถรับมือกับเชื้อโรคได้ดีขึ้น ดังนั้นถ้าร่างกายของเราได้รับ Probiotics ในปริมาณที่เพียงพอ ก็ช่วยบรรเทาอาการลองโควิดได้
แนะนำอาหารที่มีโพรไบโอติกส์สูง เหมาะซื้อมาทานที่บ้าน
นอกจากโพรไบโอติกส์ที่มีอยู่ภายในร่างกาย เราสามารถสามารถรับจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ได้ผ่านทางอาหาร แต่ไม่ใช่อาหารทุกชนิดที่มี Probiotics ในปริมาณสูง โดยอาหารที่มีโพรไบโอติกส์ น่าหาซื้อมาติดตู้เย็นไว้ ได้แก่
- โยเกิร์ต เป็นอาหารที่มีโพรไบโอติกส์สูง นอกจากรับประทานง่าย ยังมีรสชาติให้เลือกหลากหลาย แต่เพื่อให้ได้รับประโยชน์จาก Probiotics แบบเต็ม ๆ แนะนำให้เลือกโยเกิร์ตที่มีโพรไบโอติกชนิดบิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) บิฟิโดแบคทีเรียม อะนิมอลิส (Bifidobacterium animalis DN173010) แล็กโทบาซิลลัส คาเซอิ (Lactobacillus casei) หรือแล็กโทบาซิลลัส แอซิโดฟิลัส (Lactobacillus acidophilus) เพราะโพรไบโอติกสายพันธุ์เหล่านี้เป็นชนิดที่มีประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหารและระบบภูมิคุ้มกัน
- นมเปรี้ยว คือนมที่ผ่านการหมักจนเกิดโพรไบโอติกส์ขึ้นในตัวนม ควรเลือกดื่มนมเปรี้ยวชนิดที่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์และมีโพรไบโอติกส์สายพันธุ์เดียวกับที่มีในโยเกิร์ต
- อาหารหมักดอง ที่เกิดจากถนอมอาหารให้มีระยะเวลาที่กินได้ยาวนานขึ้น เป็นอาการอีกประเภทที่มีเชื้อจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์อยู่ โดยอาหารหมักดองที่ควรหามาทานก็มีทั้งขิงดองหรือกิมจิ แต่ควรเลือกทานผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากโภชนาการบอกชัดเจน
- ชีสบางประเภท หากอยากรู้ว่าชีสชนิดไหนมีโพรไบโอติกส์ให้ดูที่ฉลากผลิตภัณฑ์มีคำว่า “live cultures” หรือ “active cultures” ไหม ถ้ามีแสดงความชีสชนิดนี้มีโพรไบโอติกส์อย่างแน่นอน
โพรไบโอติกส์ กับ 3 ข้อควรระวัง
แม้โพรไบโอติกส์มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ถ้าทานในปริมาณที่ไม่เหมาะสมก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน ฉะนั้นผู้ที่สนใจโพรไบโอติกส์ควรรู้ว่า มีเรื่องอะไรบ้างที่ต้องระวัง เพื่อให้สุขภาพที่ดี
(1) ควรเริ่มต้นทานโพรไบโอติกส์ในปริมาณที่น้อย ๆ ก่อน เพื่อให้ร่างกายได้ปรับสมดุลกับปริมาณ Probiotics ที่เพิ่มขึ้น เพราะถ้าทานในปริมาณมากเกินไปตั้งแต่ครั้งแรก อาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องอืด มีลมในท้องมากขึ้น ท้องผูก หรือถ่ายเหลวได้
(2) ถึงอาหารที่มีโพรไบโอติกส์ ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารที่ผ่านการหมัก ดอง จนทำให้ได้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ แต่ก่อนทานทุกครั้งควรเช็ครสชาติอาหารอีกครั้งว่าไม่ได้เน่าเสีย หรือเลือกทานผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน มีกระบวนการผลิตที่สะอาดปลอดภัย ทั้งยังไม่เสี่ยงเกิดการปนเปื้อนเชื้อโรคที่อาจก่อโรคอาหารเป็นพิษอีกด้วย
(3) เนื่องจากร่างกายของบางคนมีความไวต่อโพรไบโอติกส์ ทำให้ทานแล้วมีอาการท้องไส้ปั่นป่วนหรือท้องเสีย ฉะนั้นควรเช็คร่างกายของตนเองว่าทานแล้วมีอาการผิดปกติหรือไม่ ทั้งขอให้เพิ่มความระมัดระวังในกลุ่มผู้สูงอายุและเด็กเล็กที่มีร่างกายอ่อนแอเป็นพิเศษ
มาถึงตรงนี้ สรุปได้ว่า Probiotics เป็นจุลินทรีย์ที่มีชีวิตและเป็นมิตรต่อร่างกาย โดยเฉพาะกับระบบทางเดินทางอาหาร หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีปัญหาเรื่องระบบขับถ่ายหรืออาการลำไส้แปรปรวนบ่อย ๆ แนะนำให้ทานอาหารที่มีโพรไบโอติกส์เสริม ช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร บรรเทาอาการท้องเสีย และแก้อาการท้องผูกได้ แต่ทั้งนี้ควรทานในปริมาณที่เหมาะสม ควบคู่กับอาหารครบ 5 หมู่ เพื่อสุขภาพร่างกายที่ดี
อ้างอิงจาก: https://promotions.co.th/สำรวจตลาด/probiotic-supplement.html